"เที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองไทย" ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ยลวิถี เมืองลับแล
นำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้า และบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน
จังหวัดอุตรดิตถ์ หนึ่งเมืองเก่าในอดีตที่มีเรื่องราวน่าค้นหา เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจด้านวิถีวัฒนธรรม ความทรงจำในอดีตที่ไม่มีวันจางหาย และร่วมอนุรักษ์ไปด้วยกัน
ล่าสุดเปิดชุมชนคุณธรรมฯ เมืองลับแล สุดยอดชุมชนต้นแบบ "เที่ยวชุมชน ยลวิถี" ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงแบบผ้าไทยของเมืองลับแล ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ล่าสุดชุมชนคุณธรรมฯ เมืองลับแล ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ "เที่ยวชุมชน ยลวิถี" ที่มีความโดดเด่น เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวน ที่มีการสืบสาน รักษา วิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรมและประเพณี 8 วิถี อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง
เช่น การแต่งกายชุดไท-ยวนด้วยผ้าซิ่นตีนจก ย่ามลับแล ข้าวแคบ ข้าวพันผัก หมี่พัน ประเพณีค้างบูยา ซึ่งทั้ง 8 วิถีนี้ ได้จัดแสดงบนอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ที่มีการจำลอง บ้านเรือนไทยและวิถีชีวิตของชุมชนคุณธรรมเมืองลับแลไว้ให้ชม
มีกิจกรรมให้เรียนรู้ เช่น การทอผ้า ถักไม้กวาด สวนสมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งมีตลาดวันวาน ซึ่งเป็นตลาดทางวัฒนธรรม ที่มีการสาธิตด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT
และความโดดเด่นอีกอย่าง คือ อาหารพื้นถิ่นและเมนูอาหารพื้นถิ่นไว้บริการนักท่องเที่ยว ได้แก่ ร้านเฮือนข้าวพันผักริมคลอง มีข้าวพันผัก ข้าวพันผักห่อไข่ ข้าวพันไม้ ร้านก๋วยเตี๋ยวรักไอติม ร้านหมี่พันป้าหว่าง มีหมี่คลุก หมี่พัน เป็นต้น
ทั้งนี้ชุมชนคุณธรรมฯ เมืองลับแล จะเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในชุมชนคุณธรรมฯทั่วประเทศ โดยผู้สนใจสามารถดาวโหลดข้อมูลได้ที่ Mobile Application "เที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองไทย" รวบรวมข้อมูลประกอบด้วย เส้นทางท่องเที่ยว 76 จังหวัด "เที่ยวชุมชน ยลวิถี" เที่ยวตลาดน้ำและเที่ยวตลาดบก
ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้า และบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมสู่ประชาชนและชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย