ปักหมุด "ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต" นำร่อง 5 โครงการรับ "เปิดประเทศ"
กทม.ปั้นโครงการ "ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต" เปิด 5 โครงการฟื้นฟูพื้นที่กรุงเทพฯให้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่รับ "เปิดประเทศ"
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน "ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต" (Regenerative Bangkok) ตามแนวคิดฟื้นเมืองเชื่อมย่านสำคัญต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ผ่าน 5 โครงการนำร่อง เพื่อฟื้นฟูโครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้า และพื้นที่สีเขียว เตรียมความพร้อมรับ "เปิดประเทศ" โดยมี ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร และดร.กชกร วรอาคม ที่ปรึกษาโครงการ ร่วมให้รายละเอียดของการพัฒนาในแต่ละย่าน พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจากพื้นที่ทั้ง 5 โครงการนำร่องร่วมในงาน ณ บริเวณสกายวอล์คช่องนนทรี แยกสาทร-นราธิวาส พื้นที่เขตสาทรและเขตบางรัก
"ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต" เป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองในมิติใหม่ของกรุงเทพมหานครทั้งระบบ โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการฟื้นฟูโครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้า และพื้นที่สีเขียว ให้เป็นตัวเชื่อมโยงย่านต่าง ๆ อย่างบูรณาการ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นำร่องพัฒนา 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ "ผืนน้ำ" ได้แก่ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีเชื่อมคลองสาทร และโครงการฟื้นฟูคลองผดุงกรุงเกษม โครงการ "ผืนดิน" ได้แก่
โครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 และ โครงการปรับปรุงถนนสีลม และโครงการ "ผืนป่า" ได้แก่ โครงการสวนลุมพินี 100 ปี ซึ่งทั้ง 5 โครงการได้เริ่มดำเนินการแล้วและจะทยอยเปิดใช้ได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2564 นี้ เพื่อต้อนรับปีใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาต่อยอดไปสู่ 5 ย่านในอนาคต คือ ย่านศูนย์กลางธุรกิจ ย่านเมืองเก่า ย่านธนบุรี ย่านเมืองใหม่ และย่านพาณิชยกรรมและศูนย์การแพทย์ ซึ่งได้อยู่ในแผนโครงการนำร่องที่จะพัฒนาเป็นลำดับต่อไป
สำหรับโครงการแรกที่จะเริ่มเปิดใช้ได้ก่อน คือ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซึ่งเป็นการพัฒนาคลองในรูปแบบของสวนเลียบคลอง หรือ Linear Park ซึ่งมีแนวคิดสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ "เขียว" สื่อถึงพื้นที่สีเขียวที่จะถูกพัฒนาขึ้นตลอดแนวริมคลองทั้งสองฝั่ง "คลอง" สื่อถึงความผูกพันระหว่างกรุงเทพมหานครกับสายน้ำที่มีมาแต่โบราณ โดยในอดีตนอกจากบรรพบุรุษจะใช้คลองเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองแล้ว ยังใช้เป็นเส้นทางสำหรับการสัญจรและการค้าขายอีกด้วย คน สื่อถึงการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ 3 เขตได้แก่ บางรัก สาทร และยานนาวา ตลอดเส้นทางที่คลองช่องนนทรีทอดตัวไหลผ่าน จากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ไปจนถึงถนนพระรามที่ 3 รวมระยะทางทั้งสิ้น 4.5 กิโลเมตร "ความรู้" คือการวางเป้าหมายให้สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีแห่งนี้ เป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์และการเรียนรู้ของประชาชน รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ ปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อน เส้นทางออกกำลังกาย อาทิ วิ่ง เดิน และปั่นจักรยาน ตลอดจนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรด้วยการเดินเท้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง
โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี แบ่งการดำเนินการเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ถนนสุรวงศ์ ถึงถนนสาทร ช่วงที่ 2 ถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ช่วงที่ 3 นราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ช่วงที่ 4 ถนนจันทน์ ถึงถนนรัชดาภิเษก และช่วงที่ 5 ถนนรัชดาภิเษก ถึงถนนพระราม 3 ปัจจุบันสำนักการโยธา กทม. ได้เริ่มก่อสร้างในช่วงที่ 2 จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร ประกอบด้วย งานปรับปรุงทางเท้า งานก่อสร้างลานกิจกรรม งานก่อสร้างสวนสาธารณะ งานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง งานตอกเสาเข็มและโครงสร้างทางเดินเลียบคลอง โดยบูรณาการร่วมกับสำนักการระบายน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำภายในคลองช่องนนทรี ซึ่งในช่วงที่ 2 นี้กำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนในช่วงเทศกาลวันคริตส์มาส 25 ธันวาคม 2564 เพื่อต้อนรับปีใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ระยะทางรวม 2 ฝั่ง 9 กิโลเมตร จะเป็น “สวนสาธารณะคลอง”แห่งแรกของไทย กำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในระยะยาว ตลอดจนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง