ข่าว

รมช.มหาดไทย ชง "แก้จน" ในพื้นที่ภาคใต้

รมช.มหาดไทย ชง "แก้จน" ในพื้นที่ภาคใต้

28 ต.ค. 2564

พบเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ "นิพนธ์" ชงคกก.ยุทธศาสตร์ภาคใต้(กพต.) เร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ แก้ปัญหาเรือประมง และพัฒนาด่านสะเดาฯ จ.สงขลา กระตุ้นการค้าชายแดนเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

“แก้จน” โจทย์ใหญ่สังคมไทยยุคดิจิทัล ไม่เว้นแม้ในพื้นที่ด้ามขวานไทย ล่าสุด มีความพยายามของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เตรียมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนแล้ว

 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.)  เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 3/2564 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ

 

ทั้งนี้ที่ประชุมฯรับทราบการถ่ายโอนภารกิจจัดจ้างวิทยากรผู้สอนภาษาไทย จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ให้กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ตั้งแต่ปี 2566 หลังจากพบว่าเด็กในวัยเรียนจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือและมีปัญหาอ่านเขียนไม่ได้ และเห็นชอบแนวทางมอบอำนาจให้เลขาธิการศอ.บต.และเห็นชอบแนวทางมอบอำนาจให้เลขาศอ.บต. 

พร้อมทั้งได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ได้แก่ การช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้วกว่า 10,000 คน

 

และจะเร่งพัฒนาอีก 7,000 คนให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 แยก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่และผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานเกษตรสวนปาล์มในมาเลเซีย

 

สำหรับการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบไม้ร่วงชนิดใหม่ในยางพารารวม 308,351 ไร่ การยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 331 ล้านบาท เร่งศึกษาแก้ปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่และพัฒนาอาชีพชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบในการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่นำร่องและพื้นที่ขยายผลอีก 22,000 ไร่ควบคู่กันไป

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ได้เสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ (กพต.) ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการบูรณาการเพื่อขจัดความยากจนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ระบบ “ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน”

 

มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ คือ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และ มิติด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนและคนจนทุกมิติ 

 

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงและปัญหาเรือในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นอีกกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯตลอดช่วงที่ผ่านมา

 

ที่ประชุมฯยังได้เห็นชอบการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ การบริหารจัดการด่านการค้าชายแดน โดยเฉพาะด่านศุลกากรสะเดาเป็นด่านศุลกากรชายแดนที่มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าสูงที่สุดในประเทศไทย

 

ด่านศุลกากรสะเดา ยังเป็นประตูเชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย จึงได้ให้ความสำคัญกับด่านศุลกากรสะเดาในฐานะอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสำคัญ

รมช.มหาดไทย ชง \"แก้จน\" ในพื้นที่ภาคใต้

โดยมีเป้าหมายที่จะให้ด่านศุลกากรสะเดาสามารถรองรับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอกับปริมาณการค้าที่นับวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดต้องให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

"ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนใต้ การแก้ไขปัญหาเรือประมงและการพัฒนาด่านสะเดาจะเป็นการช่วยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม"นายนิพนธ์ กล่าวในที่สุด