3 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม "เลื่อนเปิดเทอม2/64" ออกไปเป็น 15 พ.ย.นี้
โรงเรียนขนาดเล็กจัดห้องเรียนขนาด 25 คน "เลขาธิการ กพฐ." ไฟเขียวเปิดเรียนเต็มรูปแบบ 100 % แนะอาจจะใช้วิธีสลับกันมาเรียน ส่วน 3 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้มให้ "เลื่อนเปิดเทอม2/64" ออกไปเป็น 15 พฤศจิกายน นี้
“เลื่อนเปิดเทอม2/64” เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน พบว่ามีความชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. อาทิ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ,ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.),นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว”ความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ.ในวันที่ 1พฤศจิกายน 2564
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.)กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กำลังสำรวจจำนวนโรงเรียนว่าในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้จะใช้รูปแบบใด โดยพบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ on-site 100% หรือ on-site ส่วนใหญ่ รวม 12,000 โรงเรียน มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน
และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ยังไม่ให้เปิดแบบ on-site ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ แต่ให้เลื่อนเปิดเทอม2/2564 ออกไปเปิดวันที่ 15 พ.ย.2564 แทน เช่น โรงเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม3จังหวัดประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา,ปทุมธานี และนนทบุรี และจะปิดเทอม 2/2564 พร้อมกันในวันที่ 1 เม.ย.2565
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่าระหว่างภาคการศึกษาโรงเรียนหรือสถานศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอน ได้ทั้งรูปแบบ On-site หรือ Online หรือ แบบผสมผสาน (Hybrid),นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด, มีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวัง ,มีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น , ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน
“โรงเรียนขนาดเล็ก สามารถจัดนักเรียนในห้องเรียนขนาดปกติไม่เกิน 25 คน หรือจัดให้เว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตลอดจนมีสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน หรือ พื้นที่แยกกักชั่วคราว หากจะจัดกิจกรรมกิฬาหรือเข้าค่าย มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน” เลขาธิการ กพฐ. ระบุ
รวมไปถึงแผนเผชิญเหตุสำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้นกรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษากรณีมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือ ผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และควบคุมดูแลการเดินทางกรณีมีการเข้าและออกจากสถานศึกษาอย่างเข้มข้น โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสในพื้นที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางการเดินทาง
ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางต่างๆจะปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ขึ้นกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด
ทั้งนี้ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย1.Distancing เว้นระยะห่าง 2. Mask wearing สวมหน้ากาก 3. Hand washing ล้างมือ 4. Testing คัดกรองวัดไข้ 5. Reducing ลดการแออัด และ 6.Cleaning ทำความสะอาด
ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น คือ 1. Self-care ดูแลตนเอง 2. Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3. Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4. Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5. Check สำรวจตรวจสอบ และ 6.Quarantine กักกันตัวเอง