ข่าว

"ปคบ." ลุยจับหนุ่มโพสต์เฟซบุ๊ก ขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" น้ำยา ผ่านทางออนไลน์

"ปคบ." ลุยจับหนุ่มโพสต์เฟซบุ๊ก ขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" น้ำยา ผ่านทางออนไลน์

29 ต.ค. 2564

ตำรวจ ปคบ.จับหนุ่มโพสต์เฟซบุ๊ก ขายบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยา ยึดของกลางจำนวนมาก ขณะที่ก่อนหน้าที่ รม.ดีอีเอส สั่งเร่งศึกษา หวังดึงเข้าระบบปิดช่องทางลอบนำเข้า

ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ. โดย พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ สว.กก.1 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ ชป.5 กก.1 บก.ปคบ. จับกุม นายจัตุรงค์ (สงวนนามสกุล)  อายุ 26 ปี หลังตรวจสอบว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ Marisa Melon ประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปสั่งซื้อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. จึงได้วางแผนให้สายลับติดต่อล่อซื้อ ก่อนจะนัดส่งของกันที่กลางซอยลาดพร้าว 122 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม. 
 

\"ปคบ.\" ลุยจับหนุ่มโพสต์เฟซบุ๊ก ขาย \"บุหรี่ไฟฟ้า\" น้ำยา ผ่านทางออนไลน์

 

ต่อมา ตามเวลาและสถานที่นัดหมายมีนายจัตุรงค์  เดินทางมาพร้อมของกลางผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า รวม 4 รายการ มูลค่าประมาณ 100,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชป.5 ที่รออยู่แสดงตัวเข้าควบคุมตัวตรวจค้นและยึดไว้เป็นของกลาง ก่อนแจ้งว่าการขายสินค้าดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า หรือน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ใดขายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลาง ส่ง พงส.กก.1 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

\"ปคบ.\" ลุยจับหนุ่มโพสต์เฟซบุ๊ก ขาย \"บุหรี่ไฟฟ้า\" น้ำยา ผ่านทางออนไลน์

 


 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอีเอส. เปิดเผยภายหลัง ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ตัวแทนกลุ่ม ECST ผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า และแอดมินเพจเฟซบุ๊กมนุษย์ควัน เข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าที่จำหน่ายได้ตามกฎหมาย จะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบมีช่องทางรายได้ใหม่จากการป้อนผลผลิตให้โรงงานผลิตบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งปิดช่องภาษีรั่วไหลจากการลักลอบนำเข้า

 

ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ระบุว่า "องค์การอนามัยโลกรายงานการสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทยในโรงเรียน อายุ 13 -15 ปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจระดับโลก พบว่า อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนไทยในเดือนก่อนการสำรวจ เท่ากับ 7.7% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2558 ที่อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.5% เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในเวลา 5 ปี”
 

นพ.จตุภัทร  คุณสงค์ จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ  โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป   จากการวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นโรคหัวใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในเซลล์ปอด หัวใจ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง  บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบ “ติด” ได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้รูปแบบ ขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่ธรรมดามาก ทำให้ผู้สูบยังคง “ติด” ในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่ธรรมดา

 

ด้าน นายอาสา ศาลิคุปต และนายมาริษ กรัณยวัฒน์ เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” แอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร”   เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนานโยบายเกี่ยวกับยาสูบกว่า 100 คน กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ยังคงมองข้ามศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ WHO สนับสนุนและรวมเอาหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) เข้าไปไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบด้วย