ข่าว

กทม.เตรียม "เปิดเรียนแบบon-site" ใต้มาตรการ "Sandbox" ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90%

กทม.เตรียม "เปิดเรียนแบบon-site" ใต้มาตรการ "Sandbox" ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90%

30 ต.ค. 2564

รร. กทม. พร้อมเปิดเทอม 2 อย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 Sandbox : Safety Zone in School และแผนเผชิญเหตุเข้มข้น เผย นักเรียนม.ต้น ฉีดวัคซีนแล้ว 90%

พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัด กทม. ได้เตรียมความพร้อมรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ On-site เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/64 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด และจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกายภาพ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการประเมินความพร้อมสู่การปฏิบัติ และด้านการดำเนินการของโรงเรียน และปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ได้แก่ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) และ 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) รวมทั้งแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ไป-กลับ) อย่างเคร่งครัด 

 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. หากพบการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียน โดยทำความเข้าใจและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ กรณีพบกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

1.ให้ปิดสถานศึกษา แบ่งเป็น

1.1 กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน 1 รายขึ้นไป ให้ปิดห้องเรียนเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาด

1.2 กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน มากกว่า 1 ห้องเรียน ให้เปิดชั้นเรียน เป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาด 

2. ไม่ต้องปิดสถานศึกษา กรณีไม่พบผู้ป่วยยืนยัน โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

2.1 ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ในสถานศึกษา ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน หากพบอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ระหว่างรอผล ให้กักตัวที่บ้าน 

2.2 ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ให้สังเกตอาการและไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่

2.3 ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

2.4 ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จัดว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

สำหรับแนวทางการรายงานการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษ สำนักการศึกษาขอความร่วมมือสำนักงานเขตและโรงเรียนในสังกัด รายงานการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษ กรณีการใช้อำนาจการสั่งปิดสถานศึกษาตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษ พ.ศ. 2541 ข้อ 5 (1) และ ข้อ 5 (2) ดังนี้  เมื่อมีการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษ ให้ฝ่ายการศึกษาส่งแบบรายงานการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตามแบบฟอร์มให้สำนักการศึกษาทราบทันทีที่สั่งปิดหรือภายใน 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานเขตมีหนังสือรายงานการสั่งปิดสถานศึกษาในพื้นที่พร้อมเหตุผลประกอบให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบโดยด่วน

ในส่วนของความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน ที่มีอายุ 12-18 ปี ในโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งมีนักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาทั้งสิ้น 37,466 คน ซึ่งจากการสำรวจ พบว่ามีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ประสงค์รับวัคซีน จำนวน 34,287คน คิดเป็น 92% จำแนก ดังนี้ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 4,152 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 3,502 คน ติดเป็น 84% ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 30,135 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 27,039 คน คิดเป็น 90%

โดยเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 ได้มีการจัดฉีดวัคซีนเข็มสองให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีนักเรียนเดินทางมาเข้ารับการฉีด จำนวน 3,283 คน ได้รับวัคซีนเข็มสอง จำนวน 3,173 คน คิดเป็น 97% ในส่วนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะมีการจัดฉีดวัคซีนเข็มสอง ในระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. 64 สำหรับแนวทางการใช้ชุดตรวจ ATK ซึ่งได้รับการสนับสนุนสำนักอนามัย ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับชุดตรวจ ATK สำหรับนักเรียน จะตรวจในวันแรก ร้อยละ 100 หลังจากนั้นจะใช้วิธีสุ่มตรวจ 10% – 20%  (2 ครั้งต่อสัปดาห์) เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักเรียนและผู้ปกครองในการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนอย่างปลอดภัย