"เลี้ยงปูนา" ด้วยระบบน้ำจากสปริงเกอร์ จำลอง "ฝนตก" ให้ปูผสมพันธุ์ได้ดี
วิธีเลี้ยงปูนา ด้วยระบบน้ำจากสปริงเกอร์ จำลองฝนตกให้ปูผสมพันธุ์ได้ดี และยังเป็นการบำบัดน้ำไปในตัว เพื่อไม่ให้น้ำในบ่อเลี้ยงเน่าเสียได้ง่าย
การทำอาชีพจากความชอบ ความสนใจ ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจเพาะเลี้ยงปูนาที่จังหวัดปทุมธานี คุณประพจน์ เพชรประไพ เจ้าของ ป.ปูนาฟาร์ม เลขที่ 6/2 ม.3 ต.บึงคอไห อ.ลำลูกกา อาชีพเดิมประมูลซื้อไม้เก่า แต่เมื่องานลดลงไม่สามารถหาไม้ตามต้องการได้ ทำให้คุณประพจน์ ต้องหาอาชีพเสริมเข้ามาสำรอง
ซึ่งสามารถทำงานในพื้นที่ของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้บริเวณมาก หรือ เพิ่มค่าใช้จ่าย ก่อนจะมาลงที่การเลี้ยงปูนา คุณประพจน์ คิดที่จำทำอาชีพหลายอย่าง แต่สุดท้ายมาลงตัวที่พื้นฐานความชอบวัยเด็ก มักชอบรับประทานปูนา และปัจจุบันปูนาก็ยังเป็นที่นิยม ยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาอาหารรสแซ่บต่าง ๆ ขาดไม่ได้ และชาวบ้านก็ยังหาซื้อรับประทานกันทุกวัน
การเพาะเลี้ยงใช้วิธีการ ก่ออิฐซีเมนต์ สูงประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อปล่อยปูให้สามารถแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ โดยปูนาที่นำมาเพาะเลี้ยง เป็นสายพันธุ์กำแพง กระดองปูสีน้ำตาลเข้ม สายพันธุ์นี้มีความแข็งแรง อดทนต่อสภาพอากาศได้ดี
การเพาะเลี้ยงใช้ปูนา ไม่เกิน 10 คู่ หรือ 20 ตัว ต่อ 1ตารางเมตร ส่วนความสูงของระดับน้ำ ให้เติมเพียงท่วมหลังพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาเท่านั้น เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวและการกินอาหารได้สะดวก จากนั้นนำกระเบื้องและผักตบชวา มาปิดทับใช้เป็นที่หลบซ่อนและที่อาศัยของปูนา เนื่องจากปูนามีสัญชาตญาณ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง จึงจำเป็นต้องมาที่หลบซ่อน หากไม่หลบกันอาจเดินไปชนและหนีบกันได้ ทำให้เกิดความเสียหาย
ผักตบชวา นอกจากจะเป็นที่หลบซ่อนของปูนาแล้ว ในส่วนของรากและใบอ่อนยังเป็นอาหารที่ชื่นชอบของปูนาอีกด้วย
ส่วนระบบน้ำนั้น ใช้การสูบน้ำเพื่อทำละอองน้ำจากสปริงเกอร์ จำลองคล้ายฝนตก เพราะปูนาจะชอบเวลาฝนตก ทำให้ขยายพันธุ์ได้ดี ข้อดีอีกอย่างของการทำระบบน้ำจากสปริงเกอร์ ยังเป็นการบำบัดน้ำไปในตัว เพื่อไม่ให้ในบ่อเลี้ยงเน่าเสียได้ง่าย ด้านอาหารที่ใช้เลี้ยงปูนา เป็นอาหารของลูกปลาดุก หรืออาหารของลูกกบ
ส่วนขนาดปูนาที่นำมาแปรรูป เป็นปูดอง เพื่อผสมในส้มตำ จะเลือกปูนา ที่มีอายุประมาณ 3 เดือน ส่วนอายุมากกว่า 3 เดือน ก็นำไปทำแปรรูปเป็นอาหารในเมนูต่างๆ ได้ทุกเมนู หลังจากได้ผลตอบรับจากลูกค้า จึงได้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากปูนาเป็นสินค้าส่งขายไปทั่วประเทศ เช่น น้ำพริกเผาปูนา และข้าวเกรียบปูนา เป็นต้น
อีกทั้งยังสามารถจำหน่าย พ่อแม่พันธุ์ปูนา ราคาคู่ละ 80 บาท อีกด้วย ส่วนปูนาสดนั้น กิโลกรัมละ 90-150 บาท รายได้ในการเพาะเลี้ยง และจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 100,000 – 130,000 บาท ต่อเดือน
ปัจจุบันยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ สำหรับผู้สนใจอีกด้วย โดยเจ้าของฟาร์ม พร้อมแบ่งปันความรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้สนใจศึกษาดูงาน ติดต่อได้ที่เพจ ป.ปูนาฟาร์ม หรือโทรศัพท์ 089-248- 6288
คุณประพจน์ ฝากทิ้งท้ายด้วยว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ที่กำลังประสบกับปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผลกระทบต่อรายได้ รวมไปถึงการทำงาน ขอให้มีกำลังใจต่อสู้ต่อไป เพราะกว่าตนเองจะประสบความสำเร็จ ก็ใช้เวลาเรียนรู้กับปูนามากกว่า 3 ปี ทำให้เข้าใจ จนสามารถพัฒนาต่อยอดได้
ภาพ/ข่าว อนันต์ วิจิตรประชา ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ปทุมธานี