ข่าว

เปิดตัวเว็บไซต์เพิ่มช่องทางพัฒนาสิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" 1 พ.ย.นี้

เปิดตัวเว็บไซต์เพิ่มช่องทางพัฒนาสิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" 1 พ.ย.นี้

31 ต.ค. 2564

สปสช.เปิดตัวเว็บไซต์ 1 พ.ย.นี้ รุกเพิ่มช่องทางสื่อสารการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" แจ้งประชาชนให้ทราบข้อมูลและเสนอความคิดเห็นได้ง่ายขึ้น

นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงทิศทางกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ (Universal Coverage Benefit Package : UCBP) ในอนาคตว่า สิทธิประโยชน์ของ สปสช. มีรายการที่ครอบคลุมรอบด้านและขยายอย่างต่อเนื่องมาตลอด 18-19 ปี ซึ่งในเชิงกระบวนการพัฒนานั้น ตนมองว่ามีความสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอหัวข้อสิทธิประโยชน์ การจัดลำดับความสำคัญ การศึกษาวิจัย และเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ แต่ที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาคือเรื่องการสื่อสารผ่านเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารและให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนสามารถเสนอหัวข้อในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น

นางวราภรณ์ กล่าวว่า ผู้ที่เสนอหัวข้อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์คือกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 7 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.ผู้กำหนดนโยบาย

2.ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์

3.นักวิชาการด้านสาธารณสุข

4.กลุ่มประชาชน ทั้งภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ป่วย และ ประชาชนทั่วไป

5.ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

6.คณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานของ สปสช.

7.กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์

โดยที่ผ่านมาช่องทางการเสนอหัวข้อในแต่ละปี ในช่วงเวลารับหัวข้อ สปสช.จะส่งหนังสือแจ้งกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เสนอหัวข้อสิทธิประโยชน์พร้อมข้อมูลประกอบตามเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นประจำปีซึ่งจะมีประเด็นสิทธิประโยชน์ที่มาจากภาคประชาชน และบางครั้งก็มาจากหนังสือแจ้งความเดือดร้อนหรือข้อจำกัดต่างๆส่งมาถึง สปสช.โดยตรง หรือแจ้งผ่านสายด่วน สปสช. 1330 รวมทั้งช่องทางการเสนอหัวข้อทางเว็บไซต์

อย่างไรก็ดี ช่องทางการเสนอหัวข้อการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ทางเว็บไซต์ในอดีตที่ผ่านมา อาจมีรายละเอียดต่างๆไม่มากนัก ดังนั้น สปสช.จึงร่วมมือกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ: HITAP ในการพัฒนาเว็บไซต์ https://ucbp.nhso.go.th ซึ่งจะจัดหมวดหมู่ประเด็นข้อเสนอที่ชัดเจนและมีการคืนข้อมูลแก่ผู้เสนอหัวข้อ ว่าประเด็นความคิดเห็นที่ได้เสนอไปนั้นมีการนำไปดำเนินการอย่างไรบ้าง และจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียรู้จักช่องทางนี้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ช่องทางการเสนอหัวข้อการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ช่องทางอื่นๆ สปสช.ก็ยังให้ความสำคัญเช่นเดิม