ข่าว

อย่าตะแบง "รถไฟฟ้า"ลอดใต้เจ้าพระยา 3 สายเกณฑ์การประมูลต้องเหมือนกัน

อย่าตะแบง "รถไฟฟ้า"ลอดใต้เจ้าพระยา 3 สายเกณฑ์การประมูลต้องเหมือนกัน

02 พ.ย. 2564

ดร.สามารถกัดไม่ปล่อยชี้การก่อสร้าง"รถไฟฟ้า"ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา 3 สาย ต้องใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดียวกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูลจะทำให้ประโยชน์สูงสุดไม่ตกแก่ประชาชน

คนกรุงเทพฯ และชาวไทยต่างรอคอยที่จะได้เห็นโฉมหน้าของรถไฟฟ้าที่จะลอดผ่านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา โดยสายแรกที่ได้เปิดให้บริการไปแล้วคือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ส่วนอีก 2 สาย ยังอยู่ระหว่างของการประมูลเพื่อหาเอกชนรายใหม่ให้ได้รับสัมปทานการก่อสร้าง เนื่องจากที่ผ่านมามีการยกเลิกการประมูล นั่นคือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือวันนี้ คือดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์เฟซบุ๊กถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชนได้เมื่อใด หากการประมูลยังล่มและมีเกณฑ์การประมูลที่เปลี่ยนแปลง และไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด โดยเฉพาะในส่วนของเกณฑ์การประมูลการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
 

 

"ดร.สามารถ" ระบุว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาที่มีอยู่ 3 สายด้วยกันนั้น ในส่วนของสายแรกคือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูล ส่วนสายที่ 2 ตามแผนของ รฟม. คือสายสีส้มตะวันตก ตามด้วยสายที่ 3 คือสายสีม่วงใต้ ทั้ง 3 สายนี้ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ดังนั้น "เกณฑ์ประมูล" หาผู้รับเหมาหรือผู้ร่วมลงทุนจะต้องเหมือนกัน! พร้อมกับชี้ประเด็นแบบแยกให้เห็นภาพดังนี้ 

อย่าตะแบง \"รถไฟฟ้า\"ลอดใต้เจ้าพระยา 3 สายเกณฑ์การประมูลต้องเหมือนกัน

1. รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาสายแรก คือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการประมูลรถไฟฟ้าสายนี้ รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" แต่ผู้ชนะการประมูลจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคก่อนด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะชนะการประมูล ปรากฏว่าบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล โดยจะต้องทำการออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design & Build) ซึ่ง ช.การช่าง ได้ว่าจ้างให้บริษัท AECOM หรือเออีคอม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบ
 

 

2. สายสีส้มตะวันตกจะลอดใต้เจ้าพระยาเป็นสายที่ 2? ซึ่งตามแผนของ รฟม. รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จะได้รับการก่อสร้างลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2 แต่ถึงเวลานี้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจาก รฟม. ได้ล้มประมูล หลังจากเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศจาก "เกณฑ์ราคา" เป็น "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ทำให้มีปัญหาจึงถูกฟ้องร้อง ยังเปิดประมูลใหม่ไม่ได้ จากเดิมที่ รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคก่อน โดยต้องได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 85% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดจะชนะการประมูล

 

แต่หลังจากปิดการขายเอกสารประกวดราคา รฟม. ได้เปลี่ยนมาใช้ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านราคาหรือผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดจะชนะการประมูล โดย รฟม. ได้ชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มีเส้นทางผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้ง ต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รฟม. จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีสมรรถนะและประสบการณ์สูง

 

อย่าตะแบง \"รถไฟฟ้า\"ลอดใต้เจ้าพระยา 3 สายเกณฑ์การประมูลต้องเหมือนกัน

 

ดร.สามารถ ย้ำว่าในประเด็นนี้ได้แย้ง รฟม. ไปว่าหาก รฟม. ต้องการผู้ชนะการประมูลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจริง รฟม. จะต้องใช้ "เกณฑ์ราคา" เพราะเกณฑ์ราคาให้ความสำคัญต่อคะแนนด้านเทคนิคเต็ม 100% ต่างกับ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ที่ลดทอนความสำคัญด้านเทคนิคลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น อีกทั้ง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก็มีเส้นทางผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน แต่ รฟม. ก็ใช้ "เกณฑ์ราคา" ไม่ได้ใช้ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ด้วยเหตุนี้ เหตุผลของ รฟม. จึงย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง

 

3. สายสีม่วงใต้จะลอดใต้เจ้าพระยาก่อน หรือหลังสายสีส้มตะวันตก? ตามแผนของ รฟม. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 3 แต่เพราะความล่าช้าของสายสีส้มตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่สายสีม่วงใต้ช่วงลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับการก่อสร้างก่อน ยกเว้น รฟม. เปลี่ยนใจกลับไปใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูลสายสีส้มตะวันตก ซึ่งขณะนี้ รฟม. กำลังอยู่ในกระบวนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หลังจากล้มประมูลไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยก่อนล้มประมูล รฟม. ใช้ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ด้วยเหตุผลเดียวกับสายสีส้มตะวันตก ที่อ้างว่ามีเส้นทางผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ตนเองไม่เห็นด้วย และได้เสนอให้ รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" เพราะประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในที่สุด รฟม. กลับมาใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูลครั้งใหม่

 

4. สรุปถึงเวลานี้ รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยามี 3 สาย เปิดให้บริการแล้ว 1 สาย อีก 2 สาย อยู่ในกระบวนการประมูล รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" 2 สาย ประกอบด้วยสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วงใต้ เหลืออีกเพียงสายเดียวคือสายสีส้มตะวันตกที่ รฟม. ยากจะปฏิเสธการใช้ "เกณฑ์ราคา" ได้ การอ้างเหตุผลที่ย้อนแย้งมาสนับสนุนความต้องการของตน สุดท้ายจะกลายเป็นคมหอกมาทิ่มแทงตนเอง" ทั้งนี้ ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นข้อกังขาที่ตนเองและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดเผยถึงไทม์ไลน์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)และคณะกรรมการรัฐร่วมเอกชน (พีพีพี) พิจารณาแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ตามแนวทางข้อตกลงคุณธรรม คาดว่าจะส่งหนังสือตอบกลับภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนั้นรฟม.จะเสนอร่างประกาศเชิญชวน (อาร์เอฟพี) ต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 และเปิดขายเอกสารเชิญชวนภายในเดือนตุลาคม 2564

 

จากนั้นจะให้เอกชนจัดทำข้อเสนอภายใน 90 วัน หรือระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 และยื่นข้อเสนอภายในเดือนมกราคม 2565 คาดเจรจาต่อรองข้อเสนอแก่เอกชนผู้ชนะการประมูลราว 3 เดือน หรือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการฯได้ภายในเดือนเมษายน 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการสายสีส้มช่วงตะวันออกภายในต้นปี 2568 และเปิดให้บริการครบตลอดทั้งสายภายในไตรมาส 3 ของปี 2570