ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ หนุนเปิด "เรียนแบบOn Site" แต่มาเรียน1วันไม่คุ้ม
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ หนุนเปิด "เรียนแบบ On Site" แต่พบ เปิดเทอม2/64 รร.ขนาดใหญ่ให้นักเรียนมาเรียนเพียงวันเดียวต่อสัปดาห์ ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย แนะปรับมาเรียน 3 วัน หวั่นสถานศึกษาอีกกว่าหมื่นจ่อทำตาม ยิ่งเสี่ยงคลัสเตอร์ระลอกใหม่ ฝาก "ตรีนุช" เตรียมแผนรับมือ 4 ปัญหาใหญ่
“เรียนแบบOn Site” รับเปิดเทอม2/2564 กว่า10,000 โรงเรียน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก รร.ขนาดกลาง และรร.ขนาดใหญ่ ต่างเปิดเรียนหลากหลายอาทิ เปิดเรียนเต็มรูปแบบ เปิดเรียนออนไลน์ และเปิดเรียนแบบไฮบริด ทำให้นักวิชาการด้านการศึกษาระดับแถวหน้าของไทยอดห่วงไม่ได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึกออนไลน์” เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ถึงข้อกังวลของสังคมที่ตั้งคำถามถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) คุ้ม-ไม่คุ้มกับการเสี่ยงเป็นคลัสเตอร์ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาระลอกใหม่ กรณีปล่อยให้สถานศึกษาเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 “เรียนแบบ On Site” ให้นักเรียนหมุนสลับมาโรงเรียนเพียง 1 วัน/สัปดาห์ โดยแค่สุ่มตรวจคัดกรองโควิด-19 ส่วนที่เหลือ 4 วัน เรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า การเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อาจส่งผลให้ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ. อาจต้องการให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิดเรียนแบบ On Site ในภาคเรียน 2/64 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ตามไปด้วย เพื่อสอดรับกับวันเปิดประเทศ
แต่อย่าลืมว่า นับตั้งแต่วันเปิดประเทศ ในหลายพื้นที่มีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ซึ่งล้วนเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ได้
“ผมมีความเห็นตรงกับแกนนำองค์กรครูในภาคต่างๆ ก่อนหน้านี้ ที่เรียกร้องให้นักเรียน ครูและบุคลากรในทุกโรงเรียนที่จะเปิดเทอมแบบ On Site ในวันแรกจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าสถานศึกษาทุกคน เพื่อเป็นฐานข้อมูลของโรงเรียนในการคัดแยกผู้ติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยง ส่วนภายหลังค่อยใช้วิธีสุ่มตรวจได้” ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ
ส่วนกรณีรร.ขนาดใหญ่ เปิด “เรียนแบบ On Site” แต่ให้นักเรียนหมุนสลับมาโรงเรียนเพียง 1 วัน/สัปดาห์ โดยแค่สุ่มตรวจคัดกรองโควิด-19 ส่วนที่เหลือ 4 วัน ให้นักเรียนเรียนออนไลน์นั้น
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ตนมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนักเรียนได้มาโรงเรียนแค่เพียง 1 วันเท่านั้น ส่วนอีก 4 วัน เรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ซึ่งมีผลวิจัยออกมาแล้วว่า การเรียนออนไลน์ในช่วง 2 ภาคเรียนที่ผ่านมา เด็กได้ความรู้ไม่เกิน 50%
"ผมหนุนเปิดเรียนแบบ On Site แต่รร.ขนาดใหญ่ที่เปิดเรียนเทอม 2/64 นักเรียนรับวัคซีนแล้ว ควรได้มาเรียนที่โรงเรียน 2-3 วัน ต่อสัปดาห์ ขณะที่มีการตรวจ ATK คัดกรองโควิด-19 นักเรียนที่มาโรงเรียนเพียงแค่การสุ่มตรวจ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง และกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ปกครองในการตัดสินใจส่งบุตรหลานมาเรียนแบบออนไซต์"ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องทุกวัน ประกอบกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต อยู่ในกระแสของรูปแบบของแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมแปลกใจว่า ศธ.แทบไม่ได้ดำเนินการรองรับในเรื่องเหล่านี้ไว้เลย
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า การเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อโรงเรียนเปิด เรียนแบบ On Site ไม่ได้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะให้โรงเรียนเปิดสอน Online แบบเลคเชอร์ หรือไม่ก็สอนแบบ On-hand ให้เด็กเรียนรู้ที่บ้านโดยครูจัดทำเอกสาร หรือใบงานให้กับนักเรียน
พอมาถึงภาคเรียนที่ 2/2564 นี้ ก็อาจคิดแต่จะสนองนโยบายเปิดปประเทศ อยากให้โรงเรียนสอนแบบ On Site โดยแทบจะไม่เคยคิดและดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเลย
“ผมขอเรียกร้องข้าราชการระดับบริหารใน ศธ.ได้คิดเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว เพราะเป็นกระแสการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ที่ไม่อาจต้านทานได้ ให้เปิดหูเปิดตาไปร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเดินหน้าเรื่องนี้ไปไกลแล้ว ไม่ต้องรอให้นักการเมืองมาสั่งเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของเยาวชน อนาคตของชาติ”ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั่วโลกอาจจะยังอยู่กับการระบาดของโรคโควิด-19 ไปอีกนาน ไม่รู้ว่าหลังวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 โรงเรียนจะต้องปิดเรียนแบบ On Site อีกหรือไม่ เพราะโรงเรียนอีกประมาณนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ ลุ้นที่จะเปิด On Site เนื่องจากจัดการเรียนการสอน Online แบบเลคเชอร์ หรือสอนแบบ On-hand ไม่ได้ผล
“ผมฝาก รมว.ศธ. เตรียมรับมือและแก้ปัญหา ใน 4 ประเด็นนี้คือ 1.เด็ก 900,000 คนได้ฉีดวัคซีนกันแล้วแค่ไหน 2. เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจะทำอย่างไร 3.ความทดถอยของคุณภาพการศึกษาจะทำอย่างไร 4.หากเกิดคลัสเตอร์โรงเรียน มีการเตรียมการหรือยัง เด็กจะได้รัการศึกษาอย่างไรที่ดีและมีคุณภาพอย่างไร”ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ
ศ.ดร.สมพงษ์ ยังฝากข้อควรระวังถึงการดูแลเด็กเล็กซึ่งในประเทศไทยเด็กกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับวัคซีนว่า หากเด็กต้องไปเรียนแบบออนไซต์ที่โรงเรียน และทุกครั้งเด็กเล็กต้องตรวจ ATK ห่วงว่าเด็กกลัวและเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน ควรจะปรับรูปแบบการตรวจคัดกรองเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ด้วยการตรวจน้ำลายแทนได้หรือไม่