ราชกิจจาฯ ประกาศสธ.จัดระเบียบ "ร้านจำหน่ายอาหาร" ป้องโควิด-19ระบาด
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนด หลักเกณฑ์ ควบคุม "ร้านจำหน่ายอาหาร" ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สั่งงดการหยิบ จับ ตักอาหารบริการตนเอง มีผลบังคับใช้แล้ว
แม้รัฐบาล ออกมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ด้วยการเปิดประเทศ ยก 17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว โดยมีการให้เปิดร้านจำหน่ายอาหาร นั่งกินดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ภายในร้าน ประกาศลงราชกิจจาฯ แล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสธ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ ควบคุมร้านจำหน่ายอาหาร ให้ปลอดจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
3 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการ สุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2564
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการ สุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ให้สะอาด ปลอดภัย สำหรับการบริโภค และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดต่อหรือพาหะนำโรคติดต่อบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่ จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2564”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 8 สุขลักษณะของผู้สัมผัสอาหาร ในการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) แต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขน ใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมหมวกหรือตาข่ายคลุมผม ให้มิดชิดหรือมีอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาด และสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารประเภทปรุงสำเร็จ
(2) รักษาความสะอาดของมือและเล็บ หากมีบาดแผลที่มือ ต้องทำแผลและปิดบาดแผล ให้มิดชิด สวมถุงมือทับอีกชั้นหนึ่ง โดยถุงมือต้องสะอาด และอยู่ในสภาพดีที่สามารถป้องกัน การปนเปื้อนสู่อาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในกรณีฉีกขาดหรือปนเปื้อนสิ่งสกปรกควรเปลี่ยนทุกสี่ชั่วโมง
(3) สวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันน้ำลายให้ถูกต้องตลอดเวลา เมื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
ข้อ 9 กรณีพบว่ามีผู้ติดเชื้อมาใช้บริการสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือมีผู้ติดเชื้อในเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ซึ่งอยู่ในระยะแพร่เชื้อ ตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด เข้ามาใช้บริการในบริเวณการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 และดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
(1) หยุดการดำเนินกิจการในส่วนที่เกี่ยวข้องทันทีเป็นการชั่วคราว ตามที่คณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด เพื่อทำความสะอาดสถานที่ จำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ เครื่องปรับอากาศ หรือระบบระบายอากาศ แล้วจึงเปิดการดำเนินการได้
(2) จัดให้มีการทำความสะอาด พื้น ผนังด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยหรือสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู เก้าอี้ โต๊ะ ที่นั่งสำหรับ รับประทานอาหาร
(3) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีและเพียงพอ กรณีมีระบบปรับอากาศต้องมีอัตรา การระบายอากาศ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดูแลบำรุงรักษาระบบปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบให้อยู่ในสภาพดี และใช้งานได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
(4) จัดให้มีมาตรการลดความแออัด ลดการสัมผัส ลดการรวมกลุ่มในพื้นที่จำหน่ายอาหาร ประเภทปรุงสำเร็จและพื้นที่ให้บริการอย่างน้อยหนึ่งคนต่อสี่ตารางเมตร หรือมีมาตรการเว้นระยะห่าง ระหว่างบุคคลอย่างน้อยหนึ่งเมตร เว้นแต่จะมีมาตรการป้องกันรูปแบบอื่นตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน สาธารณสุข
(5) จัดให้มีการทำความสะอาด เครื่องมือ เครื่องใช้ ภาชนะ อุปกรณ์ เกี่ยวกับกระบวนการทำ ประกอบ ปรุงอาหาร และจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จที่มีการสัมผัสบ่อย หรือสัมผัสร่วมกัน ก่อนและหลังการจำหน่ายอาหาร หรือให้บริการทุกครั้ง ด้วยน้ำยาล้างจานให้สะอาด และแช่ในน้ำร้อน แปดสิบองศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองนาที หรือแช่ในน้ำผสมสารประกอบคลอรีน ที่มี ความเข้มข้นห้าสิบส่วนในล้านส่วน (part per million - ppm) ไม่เกินสองร้อยส่วนในล้านส่วน (part per million - ppm) ที่อุณหภูมิสามสิบแปดองศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองนาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด อบ หรือผึ่งให้แห้งก่อนใช้ใส่อาหารประเภทปรุงส าเร็จ
(6) จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมน้ำและสบู่อย่างเพียงพอ หากไม่สามารถจัดให้มีอ่างล้างมือได้ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ทำความสะอาดมือ เช่น เจลแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ วางไว้ในจุดที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกและเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำ ประกอบ ปรุงอาหาร หรือบริเวณที่ให้บริการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงส าเร็จ
(7) จัดให้มีอุปกรณ์รับประทานอาหารแบบส่วนบุคคล ได้แก่ ภาชนะ เครื่องปรุงรส
(8) งดจัดบริการจำหน่ายอาหารในรูปแบบการให้ผู้ใช้บริการ หยิบ ตักอาหารด้วยตนเอง
(9) ให้ผู้สัมผัสอาหารและผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ให้ถูกต้องตลอดเวลา เว้นแต่ในขณะรับประทานอาหาร
(10) จัดให้มีการวัดอุณหภูมิของผู้สัมผัสอาหารและผู้มาใช้บริการ และมีการลงทะเบียนเข้าและ ออกจากสถานที่จำหน่ายอาหาร ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทางราชการกำหนด เช่น ไทยชนะ หรือ ใช้การบันทึกข้อมูล
(11) ให้ผู้ประกอบกิจการกำกับ ดูแล คัดกรองผู้สัมผัสอาหาร โดยให้ผู้สัมผัสอาหารประเมิน ตนเองก่อนเข้าทำงานทุกวัน ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนด เช่น ไทยเซฟไทย (Thai Save Thai) หรือผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทางราชการกำหนด หากพบว่ามีอาการป่วย จากเชื้อไวรัสหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อภายในระยะเวลาที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นผู้ติดเชื้อให้หยุด ปฏิบัติงานทันที กรณีผู้มาติดต่อมีประวัติเข้าไปในสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อภายใน ระยะเวลาที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นผู้ติดเชื้อให้งดเข้าไปในสถานที่จำหน่ายอาหาร
(12) ให้ผู้ประกอบกิจการจัดให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสให้แก่ผู้สัมผัสอาหารตามความเหมาะสม กรณีตรวจแล้วได้ผลที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ ให้รายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยทันที และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคตามที่กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด
(13) ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการเฝ้าระวังโดยการประเมินสุขลักษณะของสถานที่จำหน่าย อาหาร ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือเชื้อไวรัสผ่านระบบ เทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนด เช่น ไทยสต็อปโควิดพลัส (Thai Stop COVID Plus) หรือผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทางราชการกำหนด
ข้อ10 กรณีพบว่ามีผู้ติดเชื้อในสถานที่จำหน่ายอาหาร ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการ ตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 และดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
(1) ให้เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ อย่างน้อยทุกสองชั่วโมง หรือหลังการให้บริการ โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงหรือจุดที่มีการสัมผัสร่วม
(2) ให้เพิ่มการดูแลการระบายอากาศในบริเวณการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ให้มีการถ่ายเทอากาศบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อทันที และปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เช่น เครื่องกรองอากาศ หรือพัดลมดูดอากาศให้เพียงพอ
(3) ให้มีการจัดการมูลฝอยประเภทที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) ที่ใช้งานแล้วในแผนกที่มีผู้สัมผัสอาหารติดเชื้อและบริเวณที่เกี่ยวข้อง ให้จัดที่ทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ เป็นการเฉพาะ แยกเก็บรวบรวม และทำลายเชื้อไวรัส โดยใส่ถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อที่ทำ จากพลาสติก หรือวัสดุอื่นที่มีความเหนียวไม่ฉีกขาดง่าย ทนทานต่อสารเคมีและการรับน้ำหนัก กันน้ำได้ ไม่รั่วซึม และไม่ดูดซึม จำนวนสองชั้น ถุงชั้นแรกให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุง ให้แน่นแล้วซ้อนด้วยถุงแดงสำหรับบรรจุมูลฝอยติดเชื้ออีกหนึ่งชั้นมัดปากถุง ให้แน่นอีกครั้ง หากไม่มีถุงแดงต้องมีข้อความ “มูลฝอยติดเชื้อ” ปรากฏบนถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยติดเชื้อตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรวบรวมเพื่อรอการเก็บขนและกำจัดแบบมูลฝอยติดเชื้อ หรือเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด และจัดให้มีเจ้าหน้าที่กำกับ ดูแล การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
(4) ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการควบคุมผู้สัมผัสอาหารในการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับ ที่พักอาศัย ห้ามผู้สัมผัสอาหารแวะระหว่างการเดินทาง เมื่อถึงที่พักอาศัยแล้วต้องอยู่ภายในที่พักอาศัย เท่านั้น หรือปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ข้อ 11 ให้ผู้ประกอบกิจการลดมาตรการจากข้อ 10 หรือข้อ 9 เป็นข้อ 8 ข้อ 7 ข้อ 6 ข้อ 5 และข้อ 4 แล้วแต่กรณี เมื่อประวัติผู้ติดเชื้อพ้นระยะแพร่เชื้อตามที่กรมควบคุมโรค กำหนด
ประกาศ ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564
สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
คลิกอ่าน....ประกาศสธ.ควบคุมร้านจำหน่ายอาหารฉบับเต็ม
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2564