ครม.ควักงบ 3 พันกว่าล้านหนุน "วัคซีนโควิด19" สัญชาติไทย 2 โครงการ
ครม.อนุมัติงบกว่า 3,000 ล้านบาทสนับสนุน "วัคซีนโควิด19" สัญญาติไทยในโครงการ ChulaCov 19 และวัคซีนใบยา เร่งให้ทำการวิจัยและทดสอบในคนระยะที่ 3 ก่อนขึ้นทะเบียนพร้อมใช้ในภาวะฉุกเฉิน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หรือ Chula cov-19 mRna ที่ผลิตและวิจัยโดยคนไทย เพื่อทำการทดสอบโดยเพื่อทำการทดสอบในระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินประมาณ 2,316 ล้านบาท โดยเป็นการใช้งบจาก พรก.กู้เงิน
อย่างไรก็ตามสำหรับวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการทดสอบ วิจัย และผลิตวัคซีนที่ค้นพบโดยคนไทยนั้น เพื่อเป็นงบประมาณในการดำเนินการทดสอบและวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยา หรือ อย. ได้กำหนดไว้ โดยกรอบวงเงินที่อนุมัตนั้นยังครอบคลุมการวิจัยและการผลิตวัคซีน พร้อมทั้งทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 เพื่อเตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียน และนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน
จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19
สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นาน 3 เดือนและจัดเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้เก็บรักษาได้ง่ายมากกว่าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น ผลการทดสอบในหนูทดลองผ่านเกณฑ์ดีมาก สามารถป้องกันอาการป่วยและยับยั้งไม่ให้เชื้อโควิด-19 เข้าสู่กระแสเลือด ลดจำนวนเชื้อไวรัสในจมูกและปอดรวมทั้งมีความปลอดภัยจากการทดสอบความเป็นพิษ
สามารถผลิตได้เร็ว เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA ไม่จำเป็นต้องเพาะเลี้ยงเชื้อเพียงทราบสายพันธุ์ของเชื้อก็สามารถผลิตวัคซีนได้ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่และหากเกิดเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตจะสามารถสังเคราะห์วัคซีนรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ครม. โครงการเห็นชอบในหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการ และพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินที่จะเข้าไปสนับสนุนในขั้นตอนการวิจัย เป็นงบประมาณจำนวน 1,300 กว่าล้านบาท
โดยงบประมาณดังกล่าวดำเนินการภายใต้ พรก.กู้เงินในงานด้านการสาธารณสุข ทั้งนี้ได้มอบหมายให้จุฬาฯ เร่งรัดทำการวิจัยและทดสอบในมนุษย์ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลอีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา และอนุมัติเงินกู้ต่อไป
สำหรับ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ถือว่า เป็นบริษัทสตาร์ทอัพไทย สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำจากใบยาพืช โดยการใส่รหัสพันธุกรรมที่กำหนดการสร้างโปรตีนของไวรัส ภายใน 1 สัปดาห์ พืชจะสร้างโปรตีนที่ต้องการใช้งาน ทั้งนี้ ลักษณะโครงสร้างและลำดับของโปรตีนจะแม่นยำกว่าการสร้างวัคซีนด้วยกลวิธีอื่น โดยเป้าหมายตอนนี้คือ ทำโรงงานวัคซีนในประเทศ คาดว่าภายในปลายปีนี้หรือปี 2564 จะสามารถใช้งานได้