ข่าว

เพิ่มสิทธิ "บัตรทอง" บอร์ดสปสช. เคาะ คัดกรองธาลัสซีเมีย - ซิฟิลิส ก่อนเกิด

เพิ่มสิทธิ "บัตรทอง" บอร์ดสปสช. เคาะ คัดกรองธาลัสซีเมีย - ซิฟิลิส ก่อนเกิด

06 พ.ย. 2564

บอร์ด สปสช. เพิ่ม 4 บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นสิทธิประโยชน์ บัตรทอง" คัดกรอง “ธาลัสซีเมีย-ซิฟิลิส” ในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ ชี้ต้นทุนต่ำกว่าการรักษา พร้อมหนุนการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน-บริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ลดปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิต

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 12/2564  ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 4 รายการ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อไป

ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ 4 รายการดังกล่าว ได้แก่

  1. การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
  2.  การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
  3. การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน
  4. บริการสายด่วนเลิกบุหรี่



ซึ่งการจ่ายชดเชยบริการจะใช้งบประมาณ จำนวน 32,149,500 บาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ยกเว้นบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ให้เริ่มภายหลังจากที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองแล้ว

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 4 รายการนี้ ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ พร้อมกันนี้ได้มีการมอบ สปสช. พิจารณาประเด็นภาระงบประมาณกรณีต้องตรวจยืนยันภายหลังการตรวจคัดกรอง รวมถึงการรักษาต่อเนื่อง และการยืนยันตัวตนกรณีสามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องเข้ารับตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและตรวจคัดกรองซิฟิลิส

ในส่วนของสิทธิประโยชน์รายการที่ 1 บริการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าต้นทุนการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียเท่ากับ 794 บาทต่อคู่ ขณะที่การดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียอาการรุนแรง จะมีต้นทุนการรักษาคนละ 30,000 บาทต่อปี แม้จะยังไม่พบการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในไทย แต่จากการศึกษาของฮ่องกงพบว่าค่าตรวจคัดกรองและติดตามจะอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยตลอดอายุขัยจะอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

สิทธิประโยชน์รายการที่ 2 การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าการตรวจคัดกรองและรับการรักษาก่อนมีบุตร มีต้นทุนต่ำกว่าการตรวจและรักษาเมื่อตั้งครรภ์แล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการคัดกรองอยู่ที่ 130-400 บาทต่อครัวเรือน และค่ารักษา 1,500 บาท ในขณะที่การรักษาซิฟิลิสแต่กำเนิด 1 คน จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอก และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเท่ากับ 70,667 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นจึงควรขยายสิทธิเพื่อควบคุมป้องกันโรค ลดค่าใช้จ่ายการติดตามรักษา และลดผลกระทบในอนาคต

ขณะที่สิทธิประโยชน์รายการที่ 3 การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน (Home Blood Pressure Monitoring: HBPM) เป็นรายการที่ไม่มีภาระงบประมาณ เนื่องจากผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอาจจะตื่นเต้น ทำให้เวลาวัดความดันโลหิตอาจมีค่าความดันสูงได้ หรือที่เรียกว่า White coat hypertension  จึงต้องให้เครื่องวัดความดันผู้ป่วยกลับไปวัดเองที่บ้านเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อประเมินค่าความดันโลหิตที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นการดูแลผู้ป่วยไม่ให้รับประทานยาเกินความจำเป็น และช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้ โดย รพ. สามารถนำไปเป็นงบประมาณจัดซื้อเครื่องวัดความดันให้ผู้ป่วยยืมกลับไปวัดความดันที่บ้านได้ ขณะเดียวกันยังสร้างความตระหนักรู้และการดูแลตนเองให้กับผู้ป่วยที่นำไปสู่การป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ โดยสิทธิประโยชน์นี้สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2565 พร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับสิทธิประโยชน์รายการที่ 4 บริการสายด่วนเลิกบุหรี่ (โทร 1600) พบว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนทางสังคมได้ตั้งแต่ 525 - 10,333 บาทต่อผู้สูบ 1 ราย และสามารถเพิ่มปีสุขภาวะต่อผู้สูบบุหรี่ได้ ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 1 ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมีต้นทุนความสูญเสียจากความเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรต่อนักสูบหน้าใหม่ ถึงประมาณ 85,000 - 158,000 บาทต่อคน

ด้าน นางดวงตา ตันโช ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดําเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เพิ่มเติมทั้ง 4 รายการนี้ มีการกำหนดเป้าหมายบริการในปีงบประมาณ 2565 ในช่วง 9 เดือนจากนี้ ได้แก่

  1. บริการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย เป้าหมาย 142,000 ราย งบประมาณ 17,041,500 บาท
  2. การคัดกรองซิฟิลิส เป้าหมาย 148,400 ราย งบประมาณ 7,740,000 บาท
  3. การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน เป้าหมาย 495,300 ราย ไม่มีภาระงบประมาณและประหยัดค่ายาในระบบ
  4.  สายด่วนเลิกบุหรี่ เป้าหมาย 245,600 ครั้ง งบประมาณ 7,368,000 บาท รวมงบประมาณดำเนินการใน 4 รายการ เป็นจำนวน 32,149,500 บาท