เตือน "มลพิษ" เหตุไฟไหม้โรงงานพลาสติก
นักวิชาการเตือน ไฟไหม้โรงงานพลาสติกก่อมลพิษหลายด้าน แต่ยังไม่มีการเตือนประชาชน แนะปรับแผนป้องกันก่อนเกิดเหตุซ้ำ
จากกรณีไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลพลาสติก ในพื้นที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ซึ่งขณะเกิดเหตุส่งควันดำหนาทึบพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมทั้งมีกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ และใช้เวลานานหลายชั่วโมงจึงสามารถควบคุมได้
ดร.อบรม อรัญพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านพลาสติก เนื่องจากเคยเป็นผู้จัดการโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า
โรงงานพลาสติกรีไซเคิลส่วนใหญ่จะรับเม็ดพลาสติกที่ปนเปื้อนเม็ดกวาดพื้น Scrap จากการล้างเครื่องจักร ก่อนและหลังผลิต หรือพลาสติกที่ผลิตแล้วคุณภาพที่ไม่เป็นเกรด A หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและโรงงานขึ้นรูปชิ้นส่วน โดยการนำพลาสติกหลากหลายชนิดมารวมกันนี้ ก็ต้องมาแยกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้ถูกต้อง เหมาะสมกับกระบวนการผลิตในการรีไซเคิล ได้แก่
พอลิเอทิลีน (Polyethylene: PE)
เป็นเม็ดพลาสติกที่ไอน้ำซึมผ่านเข้ามาได้เล็กน้อย อากาศสามารถผ่านเข้าออกได้ มีลักษณะทนความร้อน ขุ่น ถูกนำมาใช้ผลิตท่อน้ำ ถุง ขวด ถัง หรือแท่นรองรับสินค้า
พอลิสไตรีน (Polystyrene: PS)
เป็นเม็ดพลาสติกที่มีความเปราะ โปร่งใส ทนต่อด่างและกรด นำมาทำเครื่องใช้สำนักงาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
พอลิโพรพิลีน (Polypropylene: PP)
เป็นเม็ดพลาสติกที่ทนต่อความร้อน ทนต่อสารไขมัน ใช้สำหรับการผลิตหลอดดูดพลาสติก และถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร
SAN (styrene-acrylonitrile)
เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า
ABS (acrylonitrile-butadiene-styrene)
เป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารเคมี มีลักษณะที่โปร่งใส เหนียว ใช้สำหรับผลิตถาด ถ้วย จาน เป็นต้น
พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride: PVC)
เป็นพลาสติกที่มีลักษณะใส สามารถป้องกันได้เป็นอย่างดี ใช้ผลิตขวดบรรจุเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ ขวดไวน์ เบียร์ ขวดสำหรับบรรจุไขมันปรุงอาหารหรือน้ำมัน รวมถึงแผ่นพลาสติกต่าง ๆ
พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate: PET)
พลาสติกรูปแบบนี้จะมีลักษณะที่โปร่งใส เหนียวมาก มีราคาสูง ใช้สำหรับทำแผ่นฟิล์มยืด แผ่นฟิล์มบาง ๆ สำหรับบรรจุอาหาร
หลายบริษัทจะนำพลาสติกเหล่านี้ มาเพิ่มสี สารเติมแต่ง เพื่อมาหลอมใหม่ หรือมีกระบวนการบางอย่างเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติก
พลาสติกเหล่านี้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
ก่อมลพิษทางอากาศควันดำ , ฝุ่น PM2.5 , ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ , ก๊าซคลอรีน , ไอระเหยของสารอินทรีย์ประเภท สารอะคริโลไนไตร บิวทาไดอีน สไตรีน เป็นต้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก
สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนบ่าย พื้นที่โดยรอบทิศทางลมพัดไปทางชุมชน เราไม่มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุก เพื่อเตือนพี่น้องประชาชนของเราให้ป้องกันอันตราย ต้องทบทวนแผนการป้องกันมลพิษ เตือนภัย ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ตราบใดที่เรายังมีโรงงานเหล่านี้ กระจายอยู่ตามชุมชน ที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานส่วนท้องถิ่นต้องทำแผนใหม่