ข่าว

ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ขานรับ ข้อเสนอ "โซนนิ่งข้าว" แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ขานรับ ข้อเสนอ "โซนนิ่งข้าว" แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

07 พ.ย. 2564

ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ ขานรับ "โซนนิ่งข้าว" เผยเป็นแนวทางที่ตรงกับกระทรวงเกษตรฯที่จะให้มีโซนนิ่งสำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวแต่ละชนิด แต่วิธีดีที่สุดคือปฏิรูปข้าวทั้งระบบ ครบวงจร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตั้งเป้าส่งออกข้าวได้ราคาสูงไม่เน้นปริมาณ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวถึง กรณีที่สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติต้องการให้มีการจัดระเบียบพื้นที่หรือ "โซนนิ่งการปลูกข้าว" ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมุ่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพในแต่ละพื้นที่แทนการปลูกให้ได้จำนวนมาก ๆ ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ว่า เป็นแนวทางที่ตรงกันเกี่ยวกับการจัด "โซนนิ่งข้าว" รวมทั้งพืชเศรษฐกิจทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ เดินแนวทางที่จะให้มี "โซนนิ่ง" สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวแต่ละชนิด 

 

ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ข้าวระยะ 5 ปีคือ ปี 2563 -67 ว่า จะมีการพัฒนาพันธุ์ข้าว เร่งพัฒนาส่งเสริมในการใช้พันธุ์ข้าว 12 ชนิด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด เป็นไปตามยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต 

 

การลดพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตต่ำ ไปสู่การปลูกพืชทางเลือกใหม่ซึ่งมีตลาดโดยมีโครงการในการปลูกถั่วเขียวเป็นพืชทางเลือกสำหรับพื้นที่ปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้า ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวเหนียว ที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือมีน้ำไม่เพียงพอ มาสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เช่น ถั่วเขียว นำไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปสร้างโปรตีนทางเลือกจากพืช ได้ดำเนินการมาปีเศษแล้ว  

 

โดยจะส่งเสริมในการลดพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกถั่วเขียว  มีโรงงานสกัดโปรตีนจากถั่วเขียวและมีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปต่อเนื่องเป็นโมเดลที่เดินหน้ามาอย่างก้าวหน้าบริษัทเอกชนก็ได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และศูนย์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปข้าว

 

 

"เราได้ร่วมกับสมาคมชาวนาในโครงการดังกล่าวเพื่อที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกถั่วเขียวหลังนามาสู่การเป็นการปลูกถั่วเขียวเป็นพืชหลัก ผสมผสานกับการปลูกข้าวในฤดูฝน เป็นส่วนหนึ่งของการจัด "โซนนิ่ง" ด้วย และการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นพืชทางเลือกใหม่ที่มีอนาคต อีสานตอนใต้ก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกถั่วเขียวหรือภาคเหนือตอนล่าง"

 

เนื่องจากว่าการบริหารซัพพลายไซส์ สำคัญมาก ที่ผ่านมาเฉลี่ยประเทศไทยผลิตข้าวปีละ 30 ล้านตันข้าวเปลือกและเป็นข้าวสาร 20 ล้านตัน ใช้ในประเทศเพียงครึ่งหนึ่ง เหลืออีกครึ่งหนึ่ง พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือปัญหาอย่างโควิด-19 ก็เกิดปัญหาทั้งค่าขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์ก็ขาดแคลน ตลาดหดตัวลง เป็นปัญหาที่จะต้องมาลดพื้นที่การปลูกข้าว ลดเวลาการปลูกข้าวเพื่อที่เราจะสามารถเพิ่มอำนาจต่อรอง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาสำหรับพืชทางเลือกใหม่ 

 

การทำตลาดแนวใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว เน้นในเรื่องของการสร้างข้าวพรีเมี่ยม เช่น ข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้าวพรีเมี่ยมสำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกที่กระทรวงเกษตรดำเนินการอยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข้าวพรีเมี่ยมอีกประเภทหนึ่งคือข้าวจีไอ ข้าวสังข์หยด  การแปร
รูปข้าวสร้างมูลค่าเพิ่ม เราขับเคลื่อนโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1  นิคมเกษตรอาหาร ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ดังนั้นการแปรรูปข้าวสู่การเป็นสินค้าอาหาร จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถดึงซัพพลายในรูปส่งออกผลผลิตมาสู่ในรูปการส่งออกผลิตภัณฑ์
 

การส่งเสริมการค้าออนไลน์ สำหรับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ในการที่จะสามารถผลิตข้าวและนำข้าวถุงและแพคเกจจิ้งที่สร้างแบนด์สู่ตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นในเรื่องการบริหารจัดการข้าว เป็นแนวทางที่ต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนซึ่งต้องใช้เวลา ไม่สามารถเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืนหรือข้ามปีดังนั้นยุทธศาสตร์ข้าวปี 63-67 จึงเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านระยะ 5 ปี จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในเชิงระบบ สุดท้ายคือการสร้างความร่วมมือ ตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์  ในการสร้างความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างเกษตรกรชาวนา ผู้ค้าข้าว ท้องถิ่น โรงสี ผู้ส่งออก ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการจัดประชุมเพื่อสร้างระบบหุ้นส่วนข้าวขึ้นมาในระบบ
พาร์ทเนอร์ชิพ

 

การลดเพิ่มผลิตต่อไร่โดยใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้เข้ามา เรากำลังเร่งรัดดำเนินการเช่นการใช้ โมเดลบิ๊กฟาร์มข้าวแปลงใหญ่เพื่อสามารถดำเนินการในการพัฒนาผลิตข้าว โดยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้  ล่าสุดปีนี้เราสนับสนุนนแปลงใหญ่ เป็นเงินเกือบ 5 พันล้าน เกือบ 2 พันแปลงทั่วประเทศ เป็นแนวทางในการนำชาวนารายย่อยมารวมกลุ่ม

 

ข้อเสนอของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นข้อเสนอที่ดี สอดคล้องตรงกันในเรื่องจัด "ระบบโซนนิ่ง" แต่เรามองเรื่องของการตลาดแบบยั่งยืน ไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ ดังนั้นจึงต้องมีโครงการประกันรายได้ ขึ้นมาในระยะเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นแม้ราคาข้าวตกต่ำ รายได้ของเกษตรไม่ได้ตกต่ำลง ในช่วงราคาข้าวตกต่ำชาวนาจะมีรายได้จากส่วนต่างประกันรายได้ 

 

การบริหารจัดการข้าว ต้องทำครบวงจร ตลอดห่วงโซ่ และเนื่องจากข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และเป็นผลผลิตเกษตรที่ต้องส่งออกเนื่องจากผลิตเกินความต้องการของประเทศจะแก้ปัญหาจุดใดจดหนึ่งเพียงจุดเดียวไม่ได้
การลดพื้นที่ปลูกข้าว  กระทรวงเกษตรฯโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชแต่ละชนิดรวมทั้งข้าวด้วย ซึ่งจะแก้ปัญหาในเรื่องผลผลิตต่อไร่  การพัฒนาพันธุ์ข้าว 12 ชนิดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด

 

เราคงไม่กลับไปสู่วงจรการแข่งขันข้าวสำหรับตลาดล่าง ตันละ 300 -400 เหรียญ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะว่าการแข่งขันในตลาดล่าง ต้องแข่งกับเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน ยิ่งแข่งก็ยิ่งจน เพราะต้องลดราคาลงไป  แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังและต้นปีหน้า แนวโน้มการส่งออกข้าวดี ซึ่งทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวประมาณการว่า เราน่าส่งออกได้เกินเป้าหมาย หรืออย่างน้อยก็บรรลุเป้าหมายในปี 64 คือ 6 ล้านตัน

 

แต่เรื่องของตลาดแกว่งไปมาตามสถานการณ์แต่ละปี ดังนั้นที่ดีที่สุดคือเราต้องมาปฏิรูปข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์อย่างยั่งยืนได้

 

ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวที่ได้มูลค่าสูง ได้รายได้สูงมากกว่าส่งออกข้าวปริมาณสูง เปลี่ยนจากทำมากได้น้อย เป็นทำน้อยได้มาก ดังนั้นอันดับโลกของข้าวไทยในเชิงปริมาณการส่งออก ไม่น่าจะใช่คำตอบสุดท้ายอีกแล้ว เพราะแม้เราจะส่งออกได้มากแต่ชาวนายังยากจนและเป็นหนี้ และประเทศมีรายได้น้อยเพราะว่าเราไปแข่งในตลาดที่ไม่ควรแข่ง

 

เราจะเน้นในเรื่องข้าวพรีเมี่ยมหรือการแข่งในตลาดที่เป็นอนาคต เช่นข้าวอินทรีย์  ซึ่งเป็นข้าวมีมูลค่าสูงซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ภายใต้โมเดลเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ทำตลาดร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์กับทูตเกษตรในต่างประเทศ เป็นเซลส์แมนประเทศ แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านยังจำเป็นต้องมีโครงการประกันรายได้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกข้าวสูงกว่าต้นทุนไม่ใช่ขาดทุน

 

คำตอบสุดท้ายของข้าวเมื่อก่อนคือส่งข้าวออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ตอนนี้เป้าหมายของเรา คำตอบสุดท้ายคือ มูลค่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ไม่ใช่ปริมาณเป็นอันดับหนึ่งของโลก ต้องเปลี่ยนมุมคิดตามหลักทำน้อยได้มาก ไม่ใช่ทำมากได้น้อย