ลุ้น "ครม." วันนี้ ไฟเขียวสัญญาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
ลุ้น "ครม." วันนี้( 9 พ.ย. ) พิจารณาเห็นชอบร่างสัญญาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสสาม -ผลงานรัฐบาล 2 ปี-สธ. ชงอนุมัติงบฯ จัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิด-19
9 พ.ย.64 การประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวาระ "ครม." ที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอคณะรัฐมนตรี ("ครม.") พิจารณาอนุมัติงบการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ และคาดว่าจะขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จนนำมาใช้ได้ในช่วงธันวาคม 2564 หรือมกราคม 2565 สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาชนิดเม็ดยับยั้งการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้มีวาระสำคัญ ดังนี้
-ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F
-รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปีที่ 2 (25 กรกฎาคม 2563-25 กรกฎาคม 2564)
-เรื่องเพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่ ครม. เห็นชอบ/อนุมัติ อาทิ รายงานผลการดำเนินการต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (กรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน)
-ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก สำหรับอาหารเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .…
-ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา กรณีการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา
-รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
-สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 5/2564
-รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2553
นอกจากการประชุม "ครม." ในวันนี้แล้ว ต้องจับตามองไปที่ทางด้านรัฐสภาซึ่งจะมีการประชุมเช่นกันเนื่องจากจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล โดยเป็นการประชุมครั้งที่1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง โดยมีวาระ คือเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ซึ่ง "คณะรัฐมนตรี" เป็นผู้เสนอ เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งเพื่อให้ที่ประชุมลงมติและร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ที่ "คณะรัฐมนตรี" เป็นผู้เสนอ ซึ่งค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
ท่ามกลางบรรยากาศการประชุมสภาที่ต้องลุ้นว่าจะมีการตีรวน การขอนับองค์ประชุมว่าครบจำนวนหรือไม่และเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับประธานวิปรัฐบาลคนใหม่คือนายนิโรธ สุนทรเลขา ว่าจะสามารถคุมเกมในสภาไม่ให้ล่มได้หรือไม่