ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคุมเข้ม ออกประกาศพื้นที่ควบคุมรับมือม็อบราษฎร
ศาลรัฐธรรมนูญออกประกาศ คำสั่งกำหนดพื้นที่ควบคุมรับมือวันอ่านคำวินิจฉัยแกนนำม็อบราษฎรปมชุมนุมปราศรัยเข้าข่ายม.49 ล้มล้างการปกครองฯหรือไม่
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.64 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าว เกี่ยวกับมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการอ่านคำวินิฉัย คดีที่แกนนำราษฎรชุมนุมเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประชุมหรือไม่
โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ในวันพุธที่ 10 พ.ย.64
เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ศาลมีคำสั่ง ดังนี้
1. กำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจหรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลอนุญาต รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อยู่ในห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลในวันดังกล่าว และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีช่องทางการรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสื่อมวลชน
2. ออกประกาศศาลรัฐธรรมนูญกำหนดอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 10 พ.ย.64 เวลา 00.01 น. - ถึงเวลา 23.59 น.
อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา หลังจากได้ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันพุธที่ 10 พ.ย. นี้ เวลา 15.00 น. กรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล(รุ้ง) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์(เพนกวิน) น.ส.จุฑาทิพย์ หรือ เพนกวิน ศิริขันธ์ น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และน.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของนายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และน.ส.ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไว้พิจารณาวินิจฉัยและให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอัยการสูงสุด สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น