ปิดจ๊อบ กรมบังคับคดี มีคำสั่งถอนการยึดที่ดิน "วัดวังใหญ่" จ.สงขลา แล้ว
จบแล้ว กรมบังคับคดี มีคำสั่งถอนการยึดที่ดิน "วัดวังใหญ่" จังหวัดสงขลา ตามคำร้องของโจทก์แล้ว ยกเลิกการขายทอดตลาด
จากรณีที่ ศาลได้สั่งบังคับขายทอดตลาดที่ดิน "วัดวังใหญ่" อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อใช้หนี้ ภายหลังจากอดีตสมภาร ซื้อรถเบนซ์ไม่ผ่อน โดยมีบริษัท ธนบุรี ลิสซิ่ง เป็นโจทย์นั้น
วันนี้ (9 พ.ย.2564) นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมายให้นายเสรี ชูเพ็ง ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลา สาขานาทวี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้านมัสการพระครูปริยัติ สุทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดวังใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจถึงกระบวนการบังคับคดี ในเรื่องดังกล่าว พร้อมประสานไปยังโจทก์เพื่อขอให้พิจารณาเกี่ยวกับความประสงค์ในการบังคับคดีหรือไม่อย่างไรนั้น
ซึ่งกรมบังคับคดี ได้ติดตาม และให้ความเป็นธรรมกับเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ โจทก์ได้มายื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "วัดวังใหญ่" ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งให้ถอนการยึดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ "วัดวังใหญ่" มีการสร้างเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2540 โดยมีนายไสว ณ พัทลุง อดีตสรรพสามิต จ.พัทลุง และนางอำไพ อัมพุกานนท์ เป็นผู้บริจาคที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดิน นส.3 จำนวน 10 ไร่ เพื่อให้ตั้งวัด โดยในขณะที่ก่อสร้าง ยังไม่ได้มีการโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นธรณีสงฆ์ ตามกฎระเบียบของกรมการศาสนา หลังจากนั้น วัดและเจ้าคณะจังหวัดได้ติดต่อเจ้าของที่ดินทั้ง 2 คน ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้ที่ดินทั้งหมดเป็นธรณีสงฆ์ แต่ติดต่อไม่ได้ เรื่องจึงเงียบหายไป โดยไม่ทราบว่า นางอำไพ ได้ไปซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ จากตัวแทนจำหน่ายแห่งหนึ่ง โดยมีบริษัทธนบุรีลิสซึ่ง เป็นไฟแนนซ์ ตั้งแต่ปี 2540 และไม่มีการผ่อนดังนั้น เจ้าหนี้จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อมีการสืบทรัพย์พบว่า นางอำไพมีที่ดินอยู่ที่ ต.วังใหญ่ อ.นาทวี จ.สงขลา จึงได้มีการร้องให้ศาลยึด เพื่อขายทอดตลาด
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 ยังบัญญัติว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนั้น แม้มีการยึดที่ดินของวัดมาขายทอดตลาด ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด ก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนเป็นของตนได้ เพราะยังไม่มีการออกพระราชบัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ได้
นอกจากนี้ ที่ดินแปลงดังกล่าว ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดทันทีที่มีการแสดงเจตนาอุทิศให้ โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีก เมื่อที่ดินที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา 33 (2) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.146/2563)
ซึ่งหากเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าเป็นที่ตั้งของวัด และเป็นที่ดินของวัด ก็จะไม่ทำการยึด เพราะหากเป็นที่ดินของวัด ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 35 ก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี หมายความว่า ที่ดินของวัด ห้ามยึดมาขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
กรมบังคับคดี 02-881 4999 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 เว็บไซต์ www.led.go.th