ข่าว

คุกตลอดชีพ "อดีตพยาบาลญี่ปุ่น" ผสมยาฆ่าเชื้อในน้ำเกลือคร่าผู้ป่วยสูงอายุ

คุกตลอดชีพ "อดีตพยาบาลญี่ปุ่น" ผสมยาฆ่าเชื้อในน้ำเกลือคร่าผู้ป่วยสูงอายุ

10 พ.ย. 2564

"อดีตพยาบาลญี่ปุ่น" ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆาตกรรมคนไข้ผู้สูงอายุเมื่อ 5 ปีก่อน ด้วยการผสมยาฆ่าเชื้อในน้ำเกลือ เหตุผลเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับญาติ

 

ศาลโยโกฮามา มีคำตัดสินลงโทษ อายูมิ คุโบคิ อดีตพยาบาลญี่ปุ่น จำคุกตลอดชีวิต จากความผิดฆาตกรรมคนไข้ 3 คน ด้วยการผสมยาฆ่าเชื้อในถุงน้ำเกลือ ขณะทำงานที่โรงพยาบาลโอกุชิ เมืองโยโกฮามา เมื่อ 5 ปีก่อน 

 

การพิพากษาโทษคดีนี้ ประเด็นหลักอยู่ที่สภาพจิตของอดีตพยาบาล วัย 34 ปี  ทนายโจทก์ขอให้ศาลสั่งประหารชีวิต แต่ผู้พิพากษาเห็นด้วยกับทนายจำเลย ที่ขอให้ผ่อนโทษส่วนหนึ่งเพราะเธอก่อเหตุขณะสภาพจิตไม่สมบูรณ์ 

 

โคบุคิ ยอมรับว่า ผสมยาฆ่าเชื้อลงในน้ำเกลือให้คนไข้  เพื่อหลบเลี่ยงการรับมือกับญาติพี่น้อง  เพราะเคยเจอประสบการณ์ที่น่ากลัวจากที่ทำงานเก่า ถูกญาติผู้ป่วยตำหนิติเตียนที่รับมือกับผู้ป่วยได้ล่าช้า เธอใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อให้คนไข้เสียชีวิตตอนที่ไม่ได้เข้าเวร  เพื่อลดความเสี่ยงเผชิญหน้ากับญาติพี่น้องผู้ป่วย  ขณะที่พ่อของโคบุคิ กล่าวในศาลว่าลูกสาวเคยหารือกับที่บ้าน ว่าอยากลาออกราว 3 เดือนก่อนเหตุสะเทือนขวัญ 

 

 

ผลการประเมินสภาพจิตก่อนคุโบคิ ก่อนถูกส่งฟ้องข้อหาฆาตกรรมพบว่าเธออยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก (เอเอสดี) หรือภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ทนายของเหยื่อแย้งว่า เอเอสดีอาจมีผลต่อแรงจูงใจในการก่อเหตุฆาตกรรม แต่มีผลน้อยมากในการตัดสินใจและลงมือก่อเหตุ เธอมีความสามารถทางจิตมากพอที่รับผิดในการกระทำได้ 

 

ศาลเห็นด้วยกับทนายโจทก์ในข้อนี้ ยอมรับว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และเป็นมูลเหตุจูงใจที่เห็นแก่ตัว  คุโบคิใช้หน้าที่การงานและความรู้ของพยาบาล วางแผนฆ่าและรู้วิธีปกปิด แต่ผู้พิพากษาพิจารณาพฤติการณ์แวดล้อมเหนือการควบคุมของจำเลย และการสำนึกผิด โดยในการแถลงครั้งสุดท้าย โคบุคิบอกว่าต้องการชดใช้ด้วยชีวิตของตัวเอง 

 

โคบุคิ เก็บตัว มีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน รู้ดีว่าตนเองไม่เหมาะเป็นพยาบาล แต่ถูกกดดันให้ทำงานนี้จากแม่ ผู้แนะนำให้เธอเลือกเรียนสายนี้และออกค่าเทอมให้  เริ่มแรกเธอเป็นพยาบาลในวอร์ดฟื้นฟู และรู้สึกถึงความสำเร็จ เมื่อเห็นผู้ป่วยที่นั่งวีลแชร์เข้าไปแต่ออกจากรพ.เดินได้ ก่อนทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เมื่อต้องเริ่มเข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  เธอรู้สึกเก็บกดเมื่อถูกญาติพี่น้องผู้ป่วยที่เสียชีวิต ระบายความโกรธแค้นใส่  ประกอบกับเธอเองมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร 

 

ตำรวจเปิดสอบสวนคดีนี้ในเดือนกันยายน 2559 หลังคนไข้เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา แต่จับกุมผู้ต้องสงสัยในอีก 2 ปี เพราะไม่มีหลักฐานพอ ชั้น 4 ของรพ.ที่คนไข้เสียชีวิต  ไม่มีกล้องวงจรปิด  สำหรับผู้ป่วย 3 ราย สองคนอายุ 88 ปี ป่วยระยะสุดท้ายคาดว่ามีชีวิตอยู่ไม่กี่สัปดาห์ แต่อีกราย วัย 78  เข้ารพ.หลังล้มข้อศอกและเข่าบาดเจ็บ คาดว่าจะออกจากรพ.ในอีกไม่นาน