ข่าว

คุมเข้มงาน "รื้อถอนอาคาร" ผิดขั้นตอนหวั่น "ตึกถล่ม" ทำคนงานเสียชีวิต

คุมเข้มงาน "รื้อถอนอาคาร" ผิดขั้นตอนหวั่น "ตึกถล่ม" ทำคนงานเสียชีวิต

10 พ.ย. 2564

ก.แรงงาน ห่วงความปลอดภัยคนงานก่อสร้าง สั่งเข้มงวดงานก่อสร้าง "รื้อถอนอาคาร" ป้องกัน "ตึกถล่ม" ส่งพนักงานตรวจอย่างเคร่งครัด ป้องกันอุบัติเหตุหยุดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินซ้ำซาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเกี่ยวกับการทำงานของคนงานก่อสร้าง และงานรื้อถอนอาคาร ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและต่อตัวลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและกระทบต่อบุคคลในครอบครัว ดังนั้นกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายให้เรื่องของความปลอดภัยในการทำงานเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดความสูญเสียในชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่ไซด์งานก่อสร้าง โดยเฉพาะการรื้อถอนอาคาร กำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ  อย่างเคร่งครัด  ซึ่งล่าสุดเกิดอุบัติเหตุอาคารระหว่างการรื้อถอน (กันสาด) พังทับนายจ้างผู้รับเหมา เสียชีวิต 1 ราย เหตุการณ์เกิด ณ บริษัท กำจรอุตสาหกรรม จำกัด แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

 

 

โดยอาคาร ที่เกิดเหตุเป็นอาคารที่พักอาศัยและอาคารสำนักงาน จำนวน 5 ชั้น (รวมชั้นดาดฟ้า) ซึ่งถูกเพลิงไหม้เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 โดยการรื้อถอนมีห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มฟ้า ทุบตึก รื้อถอน เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น และได้ว่าจ้างบริษัท ประวิทย์ (พีวาย) การโยธา จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วงอุบัติเหตุเกิดจากแผ่นปูนกันสาดชั้น 2-4 พังทลายลงมาทำให้นายประวิทย์ อยู่ศิริ อายุ 62 ปี นายจ้างบริษัท ประวิทย์ (พีวาย) การโยธา จำกัด ซึ่งควบคุมงานอยู่ที่ชั้น 3 ตกลงมาและถูกชิ้นส่วนกันสาดทับร่างเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตในครั้งนี้

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร) กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการทำงาน พร้อมพนักงานตรวจความปลอดภัยเข้าตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว และมีหนังสือเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบการดำเนินการรื้อถอนอาคารว่ามีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อีกทั้งยังได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ ในงานก่อสร้าง และงานรื้อถอนอาคารทั่วประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ตามข้อสั่งการของ รมว.แรงงาน อย่างเคร่งครัด.