ทนายผิดหวัง ศาลรธน.วินิจฉัยรุ้ง-ไมค์-อานนท์ ม็อบจุดไฟ โปรยกระดาษป่วน
ม็อบโวยจุดไฟโปรยกระดาษป่วนหน้าศาลรธน. ทนายฝ่ายอานนท์ผิดหวังศาล รธน.หลังชี้ขาด 3 แกนนำม็อบ ล้มล้างการปกครองโดยไม่มีการไต่สวน เรียกร้องนักกฏหมาย นักวิชาการและสังคมร่วมกันตรวจสอบคำวินิจฉัยนี้เกินอำนาจศาล รธน.หรือไม่
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.64 นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ว่าการปราศรัยของแกนนำหรือผู้ถูกร้องทั้ง 3 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งห้ามให้ผู้ถูกร้องกระทำการในลักษณะแบบนี้อีก รวมถึงบุคคลอื่นบุคคลใดด้วยว่า หลังจากนี้จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง ว่ามีส่วนใดที่คำวินิจฉัย เกินอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงไปกระทบต่อสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ตามมาตรา 49 วรรค 2 หรือไม่
เนื่องจากมีคำสั่งห้ามบุคคลอื่นหรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการในลักษณะนี้อีกในอนาคต ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นการวินิจฉัยเกินอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าหลักฐานของฝั่งผู้ร้องครบถ้วนตามกระบวนการหรือไม่ เพราะแม้แต่การขอไต่สวนพยานทั้ง 8 ปากของฝั่งผู้ถูกร้องก็ถูกคัดค้านจากศาลรัฐธรรมนูญ อ้างไต่สวนหลักฐานจากการถอดเทปคำปราศรัยและกระดาษไม่กี่แผ่น ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีน้ำหนักเพียงพอต่อการชี้ขาดวันนี้หรือไม่
ขณะที่สื่อมวลชนถามว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในลักษณะนี้ อาจเป็นแนวทางเพิ่มน้ำหนักให้กับคดีอาญาของกลุ่มแกนนำที่เคลื่อนไหวในลักษณะนี้หรือไม่
นายกฤษฎางค์ ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลจะถูกนำมาเป็น บรรทัดฐานอ้างอิงในคดีอาญาอื่นๆเช่นคดีของนายอานนท์นำภา ซึ่งจะเป็นภาระที่หนักให้ทีมทนานความมากขึ้นขึ้น เพราะคำวินิจฉัยนี้จะผูกพันไปทุกองค์ ส่วนจะเชื่อมโยงไปสู่ข้อเสนอเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่ ยังไม่สามารถคาดเดาได้ ส่วนแกนนำจะเคลื่อนไหวต่ออีกหรือไม่หลังจากนี้ถือเป็นสิทธิ ของพวกเขาที่จะกระทำได้
ทั้งนี้นายกฤษฎางค์ ยังระบุอีกว่า รู้สึกผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้แปลว่าฝั่งผู้ถูกร้องแพ้แต่อย่างใด พร้อมเรียกร้องให้สังคมรวมถึงนานาชาติตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าถูกต้องหรือไม่
ขณะที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ออกแถลงการต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยสรุปสาระสำคัญไม่ยอมรับการวินิจฉัยครั้งนี้ โดยอ้างว่า การเคลื่อนไหวต้องการปฏิรูปสถาบันมิใช่ล้มล้าง พร้อมกับยังยืนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันจำนวน 10 ข้อตามที่เคยมีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เช่นเคย
สำหรับบรรยากาศหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลมีคำวินิจฉัย การปราศรัยชุมนุมของแกนนำราษฎร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยฯ ส่งผลให้มวลชนที่มาติดตามฟังคำวินิจฉัยของศาล ต่างส่งเสียงตะโกนโห่ร้องด้วยความไม่พอใจ และโปรยกระดาษข้อเรียกร้องและจุดยืนในการยกเลิกม.112 ปลิวว่อนเต็มพื้นที่ลานหน้าศาลฯ
จากนั้นมีการเผากระดาษจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วย ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับและยุติการชุมนุม
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ที่เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณรอบศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาช่วยกันเก็บเศษกระดาษที่กลุ่มมวลชนนำมาโปรย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย กรณี "น.ส.เบญจา อะปัญ และ นายณัฐชนน ไพโรจน์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย ปมถูกศาลอาญาลงโทษจำคุก 6 เดือน เหตุโปรยใบปลิวป่วนหน้าศาลถือว่าถูกลงโทษเกินเหตุอันควร ซึ่งศาลรธน.เห็นว่า ศาลอาญาพิจารณาโทษสมควรแล้ว