ข่าว

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.8 ต่อ1 สั่งให้รุ้ง-ไมค์-อานนท์ เลิกล้มล้างการปกครองฯ

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.8 ต่อ1 สั่งให้รุ้ง-ไมค์-อานนท์ เลิกล้มล้างการปกครองฯ

11 พ.ย. 2564

ศาลรธน. เผยแพร่คำวินิจฉัยประวัติศาสตร์มติ 8ต่อ 1 ปม รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ขบวนการล้มล้างการปกครองฯ อ้างใช้เสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงหลัก "เสมอภาค" และ "ภราดรภาพ" สั่งให้แกนนำ องค์กร เครือข่ายเลิกการกระทำ

 

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.64  ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวซึ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยกรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)  ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

คำวินิจฉัยดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 เสียง ประกอบด้วย 1. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ  3. นายปัญญา อุดชาชน 4. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 5.นายวิรุฬห์  แสงเทียน 6. นายจิรนิติ หะวานนท์  7. นายนภดล เทพพิทักษ์ 8.นายบรรจงศักดิ์  วงศ์ปราชญ์  สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 

 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้ง หลายสถานที่ต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1-3 อภิปรายให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันฯ ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการ

 

โดยมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ คือการห้ามฟ้องกษัตริย์ และเพิ่มให้สภาผู้แทนราษฎรฟ้องกษัตริย์ได้ รวมถึงยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ รวมถึงนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯทุกคน เป็นต้น

 

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำร้องคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และไม่ครบองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน จัดที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันฯ เป็นการกระทำเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งถอดคลิปเสียง ที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 กับพวก ประกอบมาท้ายคำร้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง

 

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.8 ต่อ1 สั่งให้รุ้ง-ไมค์-อานนท์ เลิกล้มล้างการปกครองฯ

คำร้องจึงมีความชัดเจน และเพียงพอทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ฟังไม่ขึ้น

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

 

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ระบอบประชาธิปไตยฯ) โดยคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ แก่นของปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีการบัญญัติไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 และบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่ระบุถึงสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาประกอบ พร้อมอธิบายว่า การกำหนดหลักประกันเสรีภาพของประชาชน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการเฉพาะ และส่วนที่กฎหมายอื่นมิได้บัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญทุกกรณี โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นคุ้มครอง ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.8 ต่อ1 สั่งให้รุ้ง-ไมค์-อานนท์ เลิกล้มล้างการปกครองฯ

เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (1) (3) (6) รวมถึงมาตรา 49 ที่เกี่ยวกับบุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯมิได้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคน มีส่วนร่วมปกป้องและพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยฯ และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทำหน้าที่ตรวจสอบ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองดังกล่าว

 

โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ปี 2560) ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 มาตรา 35 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาทุกฉบับ วางหลักปกป้องระบอบประชาธิปไตยฯ เพื่อป้องกันการคุกคามซึ่งการกระทำของการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้คุณค่ารัฐธรรมนูญ รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยฯ ไม่ให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป 

 

ขณะที่หลักการตามมาตรา 49 วรรคสอง ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยนั้น ถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 และบัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์คือ ถ้ามีผู้ล้มล้างการปกครองมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

 

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน.8 ต่อ1 สั่งให้รุ้ง-ไมค์-อานนท์ เลิกล้มล้างการปกครองฯ

 

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสาร พยานหลักฐานต่าง ๆ จากอัยการสูงสุด (อสส.) ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1-3 จัดเวทีปราศรัยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมีบทลักษณะห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 3/2562 (กรณีพรรคไทยรักษาชาติ) วางหลักคำว่า "ล้มล้าง" ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองที่สุดวิสัยจะแก้ไขกลับคืนได้ เป็นการกระทำ ทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิและเสรีภาพเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในที่เคารพ สักการะ เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร ส่งผลให้กระทบกระเทือนและอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ ในที่สุด

 

พระมหากษัตริย์ กับชาติไทย เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และดำรงอยู่ด้วยกันในอนาคต ไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปวงชนชาวไทยเห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถวายความเคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2475 

 

โดยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2475 เห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์การปกครองของไทย อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์มีพระราชภารกิจสำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย นำกองทัพต่อสู้ปกป้อง และขยายราชอาณาจักรตลอดเวลา ในยุคที่ผ่านมาถือหลักปกครองตามหลักศาสนา และทศพิธราชธรรมปกครอง พระมหากษัตริย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธา ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดหลายร้อยปี แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรผู้ก่อการ และประชาชนชาวไทย เห็นพ้องต้องกันอันเชิญพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักคงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย โดยเรียกว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรคงไว้ซึ่งระบอบนี้ต่อเนื่อง ทำนองเดียวกับประเทศต่าง ๆ ที่มีความเป็นมาของชาติแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือเอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ และทรัพย์สมบัติชาติ จะมีกฎหมายห้ามทำให้มีมลทิน หรือชำรุด 

 

ดังนั้นข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการรับรองพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ประมุขของรัฐ ผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดมิได้ จึงเป็นการกระทำเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ เรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ อ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนอื่นได้ด้วย เป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตามผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย แม้การปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 จะผ่านไปแล้ว แต่ภายหลังผู้ร้อง (นายณฐพร โตประยูร) ยื่นคำร้องต่อศาล ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลปราศรัย ใช้กลยุทธไม่มีแกนนำ แต่มีรูปแบบการกระทำ กลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันกับผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะขบวนการเดียวกัน มีเจตนาเดียวกันกับผู้ถูกร้องที่ 1-3 กระทำซ้ำ และกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำเป็นขบวนการ ปลุกระดม ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความรุนแรง และความวุ่นวายในสังคม

 

ระบอบประชาธิปไตย มีหลักการ 3 อย่างคือ "เสรีภาพ" ทุกคนคิดพูดทำอะไรก็ได้ที่ไม่มีกฎหมายห้าม "เสมอภาค" ทุกคนเท่าเทียมกัน "ภราดรภาพ" บุคคลทั้งหลายมีอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อกูลฉันท์พี่น้อง มีความสามัคคีกัน ระบอบประชาธิปไตยฯ ด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทย กับพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

 

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

 

การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงหลัก "เสมอภาค" และ "ภราดรภาพ" ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคลอื่น และละเมิดสิทธิส่วนตัวคนอื่น ด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริง บิดเบือนจากความเป็นจริง

 

พยานหลักฐานประจักษ์ชัดว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง มีส่วนจุดประกายการอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ ทำลายหลัก "เสมอภาค" และ "ภราดรภาพ" นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยฯในที่สุด

 

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยการลบสีน้ำเงินออกจากธงชาติ หมายถึงการลบสถาบันฯออกจากธงชาติ ข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติตลอดมา

 

พฤติการณ์ในการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 และพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ต่อเนื่องหลังจากนั้น แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพโดยมีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นแล้ว แต่ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้งกลุ่มลักษณะองค์กรเครือข่าย ยังกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง