"ตร.ไซเบอร์" เปิดปฏิบัติการล่า "แอปเงินกู้โหด" เหนือจรดใต้ ค้น 8 จุด 6 จังหวัด
"ตำรวจไซเบอร์" เปิดปฏิบัติการล่า "แอปเงินกู้โหด" เหนือจรดใต้ ลุยค้น 8 จุด ในพื้นที่ 6 จังหวัด จับ 7 ผู้ต้องหา หลังมีเหยือถูกหลอกกู้เงินออนไลน์จนเกิดความเครียดฆ่าตัวตาย
11 พ.ย.2564 สืบเนื่องจากกรณีที่ นายจิระ (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองตาย เนื่องจากไปทำเรื่องกู้เงินจากออนไลน์จาก 6 แอปพลิเคชัน และเว็ปไซต์เงินกู้อีก 1 เว็บไซต์ แต่ต้องโอนเงินให้ก่อนถึงจะได้รับการอนุมัติ แต่พอโอนเงินไปก็ไม่ได้มีการอนุมัติเงินกู้แต่อย่างใด ทำให้เกิดความเครียดจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายดังกล่าว
ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ โดย บก.สอท.4 บช.สอท. สืบสวนสอบสวนจนทราบตัวคนร้าย พร้อมเปิดปฏิบัติการ "ล่าแอปเงินกู้โหด เหนือจรดใต้" จับผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 7 ราย พร้อมของกลางอีกจำนวนมาก
โดย พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยการปฎิบัติในแผนยุทธการ "ล่าแอปเงินกู้โหด เหนือจรดใต้" เข้าตรวจค้น 8 จุด ใน 6 จังหวัด คือ เชียงราย , เชียงใหม่ , สุพรรณบุรี , สระแก้ว , พังงา และกรุงเทพมหานคร จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 7 คน หลบหนีไปได้ 1 คน
ตำรวจไซเบอร์ สืบสวนรวบรวมข้อมูลจนรู้ตัวคนร้ายว่าใช้เว็บไซต์ www.กู้เงินฉุกเฉิน.net ประกาศโฆษณาให้กู้เงินโดยให้ติดต่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อมีเหยื่อติดต่อไป คนร้ายจะแจ้งกติกาต่างๆ โดยต้องโอนเงินให้คนร้ายก่อนที่จะมีการอนุมัติวงเงินกู้ แต่เมื่อโอนเงินไปก็ไม่ได้รับเงินกู้แต่อย่างใด ซึ่งในกรณีของนายจิระ ได้ทำเรื่องขอกู้เงินจำนวน 100,000 บาท และได้โอนเงินให้กับคนร้ายไป 9 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 130,000 บาท
ต่อมาตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลอนุมัติหมายจับ แล้วได้ไปจับกุมผู้ต้องหา 6 คน ที่ร่วมขบวนการ คือ นายจตุพร , นางสาวฮายีร่า , นางสาวกรรณิกา , นางสาวณิชชากร , นายชวลิต และนายเชีย กัวจุน สัญชาติจีน พร้อมกับตรวจยึดของกลางได้หลายรายการ จึงดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีก 1 คน คือ นายจิรยุทธ นามวิยะ อยู่ระหว่างการติดตามตัว
อีกกรณีที่มีเด็กหญิง อายุ 10 ปี ในจังหวัดพิจิตร ถูกคนร้ายออกอุบายโดยหลอกว่าจะให้ทุนการศึกษาเป็นเงิน 6,000 บาท ผ่านแอพปลิเคชันไลน์ โดยให้เด็กหญิงโอนเงินให้คนร้ายก่อนครั้งละ 300 บาท 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 900 บาท หลังจากทำรายการโอนเงินไปแล้วก็ไม่สามารถติดต่อกับคนร้ายได้อีก
จากนั้นตำรวจไซเบอร์ก็ได้สืบสวนจนรู้ตัวคนร้ายโดยแผนประทุษกรรมของคนร้ายคือใช้แอพปลิเคชันไลน์ โดยส่งข้อความกระจายไปยังประชาชรนับหมื่นคน หลอกลวงเหยื่อว่าจะแจกเงิน จนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินและกลับคนร้ายเกือบ 500 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน ได้เงินจากการหลอกลวงไปประมาณ 400,000 บาท จากนั้นจึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ นางสาวตรีเนตร ในข้อหา ฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยไปจับกุมได้ที่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนนายธนาธร เหมืองทรายมูล ผู้ต้องหาอีกคนที่ร่วมขบวนการยังอยู่ระหว่างหลบหนี