ถาม รมต. กลางสภา ทำไมกรมที่ดินไม่เพิกถอนสิทธิที่ดินรุกล้ำที่ "เขากระโดง"
กมลศักดิ์ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ถามรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย นิพนธ์ บุญญามณี กลางสภา ทำไมกรมที่ดินเพิกเฉยไม่เพิกถอนสิทธิที่ดินที่รุกล้ำที่ "เขากระโดง"ของการรถไฟ ทั้งที่ศาลฎีกาตัดสินแล้ว
การกระชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กรณีกรมที่ดินไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อกรณีรุกที่ดินการรถไฟที่ "เขากระโดง" จ.บุรีรัมย์ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเดิมนายกมลศักดิ์ได้ยื่นตั้งกระทู้ถามเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา แต่ รมว.มหาดไทยไม่มาร่วมประชุม อ้างติดภารกิจสำคัญ นายกมลศักดิ์จึงตั้งกระทู้ถามอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มาตอบกระทู้แทนพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ กล่าว่า รัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 3 รัฐมนตรีต้องปฏิบัติกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและส่วนรวม แต่ถึงแม้พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่มาตอบกระทู้ด้วยตนเอง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มีส่วนรับผิดชอบเช่นกัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับที่ดินบริเวณ "เขากระโดง" ต.อีสาน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ และตนเองก็ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้งในเดือนกันยายน 2564 แต่ครั้งนี้จะตั้งกระทู้ถามอีกครั้งเพื่อติดตามการดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะติดตามการดำเนินการของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 53 หรือไม่ หน้าที่ของรัฐคือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
"ที่ดินเขากระโดง" ประมาณ 5,083 ไร่เศษ จะเป็นมหากาพย์ ซึ่งเราเคยมีประเด็นปัญหาที่ดินอัลไพน์กอล์ฟมาแล้วในอดีต ไม่อยากให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันซ้ำอีก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องทำงานด้วยความลำบากใจ ท้ายที่สุดต้องถูกดำเนินคดี
หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เรื่อง"ที่ดินเขากระโดง" ตาม พ.ร.บ.การจัดวางรางรถไฟ พ.ศ.2462 ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ที่ศาลฏีกาได้มีคำพิพากษา คำสั่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิตามมาตรา 61 เพราะความปรากฏว่าบริเวณที่ดิน 5,083 ไร่เศษนี้เป็นที่ของการรถไฟ
หลังจากนั้นเป็นมาเรื่องนี้ จึงได้มีความเคลื่อนไหวเรื่อยมา กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2564 กรมที่ดินได้มีหนังสือตอบไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ให้ รฟท.ส่งเอกสารรูประวางแผนที่และต่อมา รฟท.มีหนังสือกลับไปอีกยืนยันว่าให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61
นายกมลศักดิ์ จึงถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ปัญหา"ที่ดินเขากระโดง" เกิดขึ้นมานานนับ10 ปีแล้ว แต่เหตุไฉนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมยะยะเวลากว่า 7 ปี แต่นายนิพนธ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ถามว่าทำไมกรมที่ดินถึงไม่ดำเนินการใดๆเลยกับที่ดินบริเวณเขากระโดง
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี ตอบว่า กรณีนี้มีข้อพิพาทและเรื่องได้ถึงศาลฎีกาแล้ว และมีคำพิพากษาในคดีที่ 842-876/60 และ 8027/61ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกามีผลผูกพันคู่กรณี ศาลได้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟ กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ได้ยกเลิกไต่สวนราษฎรทั้ง 35 รายที่ฟ้องคดี พร้อมทั้งให้จำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ตำบลอีสาน อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ออกจากสารบบการครอบครองที่ดิน
และกรมที่ดินได้มีหนังสือแจ้งให้การรถไฟพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป รวมทั้งที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 200/9 หมู่ที่ 13 ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ บางส่วนเป็นที่ดินของการรถไฟนั้น กรมที่ดินได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งอำนาจหน้าที่การเพิกถอนที่ดินที่ออกโดยความคลาดเคลื่อนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยืนยันว่ากรมที่ดินไม่ได้ละเลย และได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง ซึ่งตนได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินว่าให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายกมลศักดิ์ ลุกขึ้นอีกครั้งและกล่าวว่า ยังตอบคำถามข้อแรกไม่เคลียร์ ที่ถามคือศาลฎีกาได้พิพากษาไปตั้งแต่ปี 2560 ท่านดำรงตำแหน่งในปี 2562 และเรื่องนี้เพิ่งมีความเคลื่อนไหวในปี 2564 หลังจากที่พันตำรวจเอก ทวี สอดส่องได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนที่ท่านชี้แจงเกี่ยวกับคำสั่งกรมที่ดินที่ส่งมายัง รฟท. นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าที่ดินบริเวณนี้ 5,083 ไร่ แต่การดำเนินการของกรมที่ดินดำเนินการแค่เฉพาะส่วนที่มีคำพิพากษาในปี 2560 จำนวน 36รายเท่านั้น แต่นอกเหนือจากนั้นไม่ดำเนินการตามาตรา 61 ทั้งที่ความปรากฏแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา
จึงขอให้อธิบดีกรมที่ดินได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาปี 2560 และ 2561 ในเอกสาร ล.5 และ ล.13 ศาลฎีการับฟังรูประวางแนวเขตที่ดินที่ รฟท.ได้ส่งประกอบการต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกาและคดีได้ถึงที่สุด ซึ่งกรมที่ดินได้แยกเรื่องดำเนินการ ทำไมไม่นำเอกสารข้อเท็จจริงแผนที่สำรวจของ รฟท.มารับฟัง โดยเฉพาะแปลงที่ดินเลขที่ 3466 กับ 8564 สองแปลงนี้กรมที่ดินมีหนังสือตอบให้ไปฟ้องเอาเอง โดยไม่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ทั้งที่ความปรากฏตามความหมายในมาตรา 61และเป็นไปตาม มาตรา 61(8)
คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สิ้นสุด แม้กรมที่ดินไม่ใช่คู่ความ คำว่าคู่ความไม่ผูกพันเฉพาะในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษา แต่คำพิพากษาของศาลฎีกานั้นกรมที่ดินสามารถนำมาใช้ประกอบในการตั้งกรรมการสอบสวนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคแรกและ (8) ได้
จึงตั้งคำถามว่าทำไมกรมที่ดินถึงแยกส่วนออกเป็น 3 ส่วนย่อย ๆ ทั้งที่ที่ดินบริเวณนี้มี 5,083 ไร่ ไม่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ไม่ใช้เอกสารของศาลฎีกาพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วมาใช้ประกอบปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 นี่คือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 53 บัญญัติไว้ ซึ่งคำว่าเคร่งครัดคือต้องรีบดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการเช่นนี้
จึงขอถามคำถามที่สองว่า ทำไมกรมที่ดินถึงแยกส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ที่ดินแปลงนี้ใช้หลักเกณฑ์นี้ ที่ดินแปลงอื่นใช้หลักเกณฑ์ต่างหาก ส่วนแปลงที่มีโฉนดนั้น ไม่อยากเอ่ยชื่อว่าใครมีส่วนได้เสียกับที่ดินแปลงนี้บ้าง กลับมีหนังสือให้การรถไฟฟ้องเอาเอง
นายนิพนธ์ ตอบว่า คำพิพากษาในคดีของศาลมีผลเฉพาะคู่ความเท่านั้น เมื่อกรมที่ดินไม่ได้เป็นผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องในคดีดังกล่าวนั้นจะถือว่ามีผลผูกพันไม่ได้ และการรถไฟเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้กรมที่ดินทราบและดำเนินการเมื่อปี 2564 นี่เอง ถึงได้เริ่มดำเนินการในปี 2564 เมื่อการรถไฟเป็นเจ้าของที่ดิน การจะทำอะไรก็ต้องมีเจ้าของที่ดินร้องขึ้นมา จึงไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด
ประการต่อมาที่ถามว่าที่ดินของการรถไฟบริเวณเขากระโดง การรถไฟได้มีหนังสือ แจ้งให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินในที่ดินทุกแปลงที่ออกทับที่ดินของการรถไฟ โดยใช้แผนที่ที่อ้างอิงเป็นพยานในศาลเคยสำรวจตั้งแต่ปี 2539 มาใช้ประกอบในการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61แผนที่ที่การรถไฟใช้สู้คดีในศาลเป็นรูปลอยไม่มีค่าตำแหน่งพิกัดที่ตั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสแกนเป็นข้อมูลดิจิตอลด้านภูมิศาสตร์ โดยอาศัยลวดลายและรายละเอียดตามสำเนาแผนที่ตามหลักวิชาการแผนที่ ได้ปรากฏแผนที่ทั้ง 2 ฉบับมีความเหลื่อมล้ำกัน ไม่เป็นแนวเดียวกัน จึงยังไม่สามารถตั้งกรรมการสอบตามมาตรา 61 ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้
แต่เพื่อประโยชน์ในทางราชการ จึงได้ประสานกับทาง รฟท. ผู้แทนสมาพันธ์คนงานรถไฟ และผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ และได้ประชุมติดตามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตทั้งหมดของเนื้อที่ 5,083 ไร่ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงเรียนให้ทราบว่ากรมที่ดินมิได้ละเลย และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายกมลศักดิ์ ลุกขึ้นอีกครั้งและกล่าวว่า ฟังแล้วก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและยังมีความเห็นต่าง ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่ากรมที่ดินไม่ฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ประเทศนี้ภายใต้กฎหมายเดียวกันเราจะฟังเอกสารอะไร เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกา กรมที่ดินยังไม่ฟังเลย
สิ่งที่ไม่สบายใจคือหลังจากกรมที่ดินมีหนังสือแจ้งไปยังการรถไฟว่าที่ดิน 2 แปลงที่มีปัญหาดังกล่าว ให้การรถไฟไปฟ้องเอาเอง และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะฟ้องศาลปกครอง เหมือนเป็นการตั้งหลักที่จะยื้อคดีออกไปหรือไม่ เพราะเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลที่ 24-43/2561 ถ้าเป็นกรณีพิพาทที่ดินต้องฟ้องศาลยุติธรรม จะฟ้องศาลปกครองไม่ได้ หากฟ้องศาลปกครองแล้วศาลไม่รับฟ้องก็อุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด จะเป็นการยื้อออกไปอีก
ผมจึงไม่เข้าใจกรมที่ดินว่าทำไมไม่ใช้หลักเกณฑ์ที่ผ่านมา สงสัยว่าทำไมการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 ยากเหลือเกิน ทำไมกรณีอื่น ๆ ไม่ถึงขนาดนี้ แค่ความปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้แล้ว แต่กรณีนี้ตั้งยากมาก อยากให้รัฐมนตรีได้ดูคำพิพากษาอื่นเป็นตัวอย่างกรณีการเพิกถอนเอกสารสิทธิประมาณ 11,000 ไร่เศษ ที่ อ.กะปง จ.พังงา เมื่อปี 2548 กรมที่ดินเคยมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิ โดยมีเพียงรูประวางถ่ายภาพทางอากาศก็เพิกถอนสิทธิของประชาชนจังหวัดพังงากว่าหมื่นไร่ แต่นี่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
จึงขอถามรัฐมนตรีเป็นคำถามสุดท้ายว่า ท่านจะปล่อยให้มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกันเองหรือ จะไม่มีมาตรการอื่นที่จะไม่ให้มีการฟ้องร้องกรมที่ดิน มีเอกสารที่กรมที่ดินอ้างมีรูประวางที่การรถไฟส่งไป ไม่มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง อาจเป็นข้อพิพาทที่กรมที่ดินถูกฟ้องได้ ท่านรัฐมนตรีช่วยชี้แจงด้วย
นายนิพนธ์ ตอบว่า คำพิพากษาศาลฎีกาจะมีผลเฉพาะคู่ความ กรมที่ดินไม่ได้เป็นคู่กรณี จะถือว่ากรมที่ดินต้องทราบ ต้องปฏิบัติตามก็คงไมได้ ประการที่สองกรณีที่ดิน 5,083 ไร่ ได้ออกเอกสารสิทธิไป 700 กว่าแปลง และยังมี น.ส.3 และ น.ส.3ก อีกจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้นกรมที่ดินต้องมีความรอบคอบ โดยเฉพาะการจะบอกขอบเขตที่แน่นอนของการรถไฟจะต้องมีพิกัดที่ชัดเจน เพราะหากกรมที่ดินกระทำไปโดยปราศจากความละเอียดรอบคอบแล้ว อาจจะกระทบกับบุคลที่ได้เอกสารสิทธิโดยชอบแล้ว เขาก็จะฟ้องกรมที่ดิน
ฉะนั้นจึงต้องมีความรอบคอบและกรมที่ดินไม่ได้ละเลย จนได้นำแฟ้มเรื่องนี้มาดู 3-4 ครั้งแล้ว และเห็นร่องรอยความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรค เพราะหากดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนที่จริง ฉะนั้นจึงต้องขอบอกว่าให้มีการชี้แนวเขตที่ดินให้ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งการรถไฟก็ไม่เคยมานำชี้ ก็ไม่อยากให้เห็นเป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อที่ดินเป็นของการรถไฟ การรถไฟต้องดูแลและรักษาประโยชน์ของการรถไฟ