ช่วยแล้ว เบื้องต้น 4 แสนบาท ผู้เสียหายร้องพ่อเสียชีวิตหลังฉีด "วัคซีนโควิด"
สปสช.เขต 4 สระบุรี มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ผู้ได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิด 400,000 บาท เร่งโอนเงินโดยเร็ว หลังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) จ.นนทบุรี และ สสจ.นนทบุรี ประสานเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีนายสุพิน อินตุ่ม อายุ 67 ปี อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเสียชีวิต
ซึ่งหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5) จ.นนทบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้ประสานและส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ มติจ่ายเงินช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับความเสียหายเลือดออกในสมอง ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีภาวะความดันโลหิตสูง อนุุกรรมการแพทย์เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่สามารถตัดเรื่องการรับวัคซีนโควิด ออกจากสาเหตุความเสียหายได้ เป็นความเสียหายประเภท 1 เสียชีวิต ภายใน 30 วัน มติจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท
โดยสัปดาห์หน้าจะเร่งดำเนินการโอนเงินให้แก่ นายณัฐดนัย อินตุ่ม บุตรชายโดยเร็ว
ทั้งนี้นายณัฐดนัย ยังได้แจ้งกำหนดการฌาปนกิจศพ คุณพ่อสุพิน อินตุ่ม ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12.00 น. พร้อมทั้งเรียนเชิญแขกผู้มีเกียรติทุกท่านร่วมส่งวิญญาณคุณพ่อ ณ เมรุวัดศรีเรืองบุญ จ.นนทบุรี และขอบคุณ สปสช.เขต 4 สระบุรีและอนุกรรมการฯทุกท่านด้วย
ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด 19 หลักเกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และระดับ 3 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท
ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย
สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330
ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ที่
https://www.nhso.go.th/storage/files/841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf