ไม่บ้งนะจ๊ะ "ชะลอม" จักสานไทย สู่งานประชุมโลก ของใช้สุดเชย สู่ของฝากแสนเก๋
ทำความรู้จัก "ชะลอม" จากจักสานไทย สู่งานประชุมเอเปค ของใช้ในครัวเรือนแต่โบราณ ที่มีวิวัฒนาการร่วมสมัย สู่ของฝาก ของใช้แสนเก๋ ต่อยอดรายได้สู่ครัวเรือน
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 ที่ไทยเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ มีการนำ "ชะลอม" มาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงประเพณีและวิถีชีวิตชุมชนไทย การออกแบบและหัตถศิลป์สะท้อนภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบมาแปลงสภาพเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก มีนวัตกรรม ทนทาน และร่วมสมัยจนถึงปัจจุบัน
ชะลอม เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ที่ทำจากตอกไม้ไผ่ สำหรับใส่ของใช้ต่าง ๆ ของกิน มีปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกไผ่บาง ๆ สานเป็นลวดลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่าง เหลือตอกยืนที่ปากไว้โดยไม่สาน เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากันเพื่อเป็นหูหิ้วหรือกันสิ่งของที่ใส่ไว้ภายในตกหล่น
ใช้นำมาใส่ของกินของใช้ โดยจะใช้ใบไม้ เช่น ใบตองกรุภายในก่อนใส่ผลไม้เพื่อไม่ให้ผลไม้ มีรอยช้ำ หรือตกหล่นจากตาของชะลอม เป็นภาชนะจักสานที่ใช้กันทั่วไปทุกภาค บางพื้นที่เรียก กะลอม ส่วนภาคเหนืออาจเรียกว่าซ้าลอม
การสานชะลอมเริ่มจากสานส่วนก้นให้ได้ขนาดตามต้องการ หากมีขนาดใหญ่ก็จะเสริมไม้กะแหล้งขัด 2-3 อันที่บริเวณก้นชะลอมแล้วสานขึ้นมาเรื่อย ๆ ให้ได้สัดส่วนพองาม แล้วปล่อยส่วนปลายตอกไว้เพื่อรวบมัดหลังการบรรจุสิ่งของที่ต้องการ หรืออาจแยกตอกออกเป็น 2 ส่วน ผูกโค้งเป็นหูหิ้วเพื่อความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากชะลอมเป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของเป็นการชั่วคราวสำหรับเดินทางไกล หรือใส่สิ่งของที่เป็นของฝาก การสานชะลอมจึงเป็นการสานแบบง่าย ๆ ใช้เวลาไม่นาน แค่เพียงพอต่อการบรรจุสิ่งของที่ต้องการเท่านั้น
ชะลอม มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งของที่ใช้บรรจุ
ในปัจจุบันถึงแม้จะไม่ได้มีการใช้ชะลอม อย่างแพร่หลายดังเช่นในอดีตแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงสามารถพบเห็นชะลอมได้ไม่ยาก เนื่องจากชุมชนหลายแห่งยังคงสืบสานถ่ายทอดการสานชะลอมในชุมชนเพื่อเป็นสินค้า ของฝาก ของที่ระลึกของชุมชนต่าง ๆ
แต่ชะลอมกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ในบทบาทใหม่ ไม่ใช่ของใช้ที่มีภาพลักษณ์เก่า เชยเท่านั้น แต่ถูกนำมาประยุกต์ ปรุงแต่ง เป็นรูปแบบที่แตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่งใช้ประเภทนี้ เช่นการนำมาใส่ของใช้ที่จำเป็นถวายเป็นสังฆทาน แทนถังสีเหลืองแบบเก่า การนำมาตกแต่งด้วยโบว์ ดอกไม้ใส่ของใช้ ของฝาก ให้ดูมีมูลค่ามากขึ้น เป็นPackaging ใส่ของของขวัญ ใส่ของรับไหว้ในงานแต่งงาน ของชำร่วย ไปจนถึงการใส่สีใส่ลายเป็นชะลอมปิ่นโตที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานจักสานนี้อย่างมาก และเป็นที่ถูกใจนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติอีกด้วย
อั้งเซี่ยงเฮง ร้านขายชะลอมสังฆทาน ของรับไหว้ จากจ.อยุธยา ที่นำเอาชะลอมมาตกแต่งดัดแปลงเป็นชุดถวายสังฆทาน เปิดเผยว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 สังฆทานชะลอมเป็นที่นิยมอย่างมาก มียอดซื้อจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบสังฆทาน ในงานบุญต่างๆ ไปจนถึงเป็นของรับไหว้ในพิธีแต่งงาน เป็นของขวัญในวันพิเศษ ในเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีจะมีลูกค้าจำนวนมากสั่งเป็นPackaging เพื่อใช้ในการจัดกระเช้าปีใหม่ ไปจนถึงของฝาก
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบอีกมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งการนำมาประยุกต์เป็นชะลอมที่มีหูหิ้ว เนื่องจากสะดวกในการใช้สอย ปิ่นโตเพื่อใส่อาหาร ใส่ของ หรือกล่องเก็บของต่างๆ
คุณหญิง ณิชชาภัทร เกิดสกุล เจ้าของร้านอั้งเซี่ยงเฮง เปิดเผยว่า สำหรับสินค้าที่ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุดยังคงเป็นชะลอมในรูปแบบเรียบๆ เนื่องจากมีราคาที่ถูก เพราะยังได้กลิ่นไอของความเป็นไทย เข้ากับกระแสนิยมการอนุรักษ์ความเป็นไทย แต่ในขณะเดียวกันรูปแบบใหม่ก็กำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากสามารถนำไปตกแต่งบ้าน ใส่ของและเป็นของขวัญที่ดูมีมูลค่าได้
ชะลอม งานจักสานที่เคยถูกมองว่าเชย ในวันนี้เดินไปไกลถึงเวทีระดับโลก ด้วยความหมายสานพลังและจุดแข็งที่หลากหลาย ร่วมมือเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สำหรับประชาชนรุ่นหลัง อีกหนึ่งความภูมิใจของหัตถกรรมฝีมือคนไทย