13 ปัจจัย "ทำไมครูไทยอยากลาออก" คำถามที่มีคำตอบในโครงสร้างศธ.
ทำไมครูไทยอยากลาออก บริบทสังคมเปลี่ยนไป ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มทวีคูณ ผู้ปกครองฝากลูกให้ “ครูเป็นทุกอย่าง” ขณะที่ครูไร้ที่พึ่ง ระบบโครงสร้างศธ.ที่ไม่เป็นธรรม บีบหัวใจครูหมดแรงสู้ นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหตุผล
"ทำไมครูไทยอยากลาออก" คำถามที่ครูค่อนประเทศมีคำตอบ ต้องหวานอมขมกลืนมายาวนานหลายสิบปี แต่ไร้การแก้ไขปัญหา ยิ่งนับวัน "ครู" ได้รับแรงกดดันจากสังคมในการปฏิบัติหน้าที่ของครูมากขึ้น
"ไม่มีหนี้ มีเงินออมใช้ประมาณเดือนละ 20,000-30,000 บาท เพื่อครอบครัว เท่านี้ผมก็ลาออกจากอาชีพครูแล้ว"
ถ้อยคำจากครูรายหนึ่ง เปิดใจกับ “คมชัดลึกออนไลน์” ถึงเหตุผลอยากลาออกจากหน้าที่พ่อพิมพ์ของชาติ หลังแบกรับภาระหน้าที่มากว่า 20 ปี
ย้อนอดีตเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนถ่ายจากยุคอลาล็อกสู่ยุคดิจิทัล แรงกระเพื่อมโลกเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการการสอนของ “วิชาชีพครู” อย่างรุนแรง
ดูเหมือนในครั้งนี้ รัฐบาลเปิดช่องให้ "ครู" มีทางเลือกเดินของชีวิต ด้วยการเปิด "เออรี่รีไทร์" ครูส่วนมากที่ปรับตัวไม่ได้ และไม่อยากเปลี่ยนแปลงในวัยที่ใกล้เกษียณอายุราชการ ก็เต็มใจเข้าร่วมโครงการเออรี่รีไทร์กันเป็นจำนวนมาก จนเกิดภาวะ "ครูขาดแคลน" ส่วนครูที่เหลือในระบบก็ทำงานเพิ่มขึ้น
ประกอบกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มทวีคูณ พ่อแม่ผู้ปกครองคาดหวังฝากลูกให้ "ครูเป็นทุกอย่าง" ในโรงเรียน ด้วยถ้อยคำสรรเสริญเปรียบครูเป็นเสมือน “พ่อแม่คนที่สอง” แต่ครูในฐานะพ่อแม่คนที่สอง “ตีลูก” คนอื่นไม่ได้ ดุด่าไม่ได้ ดังปรากฏมีเรื่องฟ้องครูตามที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ
ไม่ต่างจากครูค่อนประเทศที่ตกอยู่ในสภาพอึดอัด คับข้องใจ เมื่อโลกความเป็นจริงสุดแสนเจ็บปวด “คมชัดลึกออนไลน์” ขอประมวลปัจจัยพอสังเขป ถึงที่มา "ทำไมครูไทยอยากลาออก" ดังนี้
1.ระบบโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เริ่มตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างศธ.ทุกครั้งเป็นเรื่องของเบื้องบน ครูและนักเรียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ได้ประโยชน์ใดๆ กับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างศธ. มีเพียงนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงศธ. ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน จนกลายเป็นที่มาของ "ชนชั้นการศึกษา"
2.ศธ.มีการปรับเปลี่ยนไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้ว่าจุดจบของปลายทางอยู่ที่ไหน และครูได้อะไร
3.ชนชั้นผู้บริหารศธ.มีจำนวนเพิ่ม และเติบโตในตำแหน่ง แต่ครูไม่มี
4.เพิ่มสำนักงาน เพิ่มจำนวนคน เพิ่มจำนวนตำแหน่ง แต่ครูสอนหนังสือนักเรียนถูกลดจำนวนลง
5.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างศธ.แต่ละครั้ง ไม่พูดถึงครูหรือนักเรียน ผิดหลักการงานด้านการศึกษา "ครูและเด็ก" คือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา
6.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างศธ.เอื้ออำนาจ แต่ไม่ปรับหลักสูตรหรือการเรียนรู้ที่นักเรียนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง จุดอ่อนไหวที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
7. ผู้บริหารจะเลื่อนขั้น จะเลื่อนตำแหน่ง ต้องอาศัยผลงานจากครู ครูต้องละงานเพื่อมาช่วยสร้างผลงานให้ฝ่ายบริหาร
8.ครูจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้น แต่ทุกอย่างต้องลงมือทำด้วยตัวเอง สอนหนังสือนักเรียนควบคู่ทำผลงานทางวิชาการ หรือผลงานวิจัยในชั้นเรียน เมื่อครูต้องเป็นมัลติสกิล คือเป็นทั้งครูและนักวิชาการในคนเดียว เนื่องจากในโรงเรียนไม่มีตำแหน่ง “นักวิชาการ” ครูต้องทำหน้าที่นี้
9.ครูที่ได้รับค่าตอบแทนสูง จากการทำผลงานวิจัยในชั้นเรียน ถูกจับจ้องและกดดันจากโรงเรียน
10.บริบทสังคมไทยเปลี่ยน พ่อแม่เลี้ยงเดียวไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก ฝากความหวัง ปั้นลูกตัวเองเอาไว้กับครู ทำให้ "ครูเป็นทุกอย่าง"
11.ครูเป็นทุกอย่าง เช่น เป็นพ่อแม่ หมอ พยาบาล นักสำรวจ ทนาย เกษตรกร นักโภชนาการ การเงิน พัสดุ ฯลฯ ทำให้ครูไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ขณะที่ครูไร้ที่พึ่ง ระบบโครงสร้างศธ.ที่ไม่เป็นธรรมบีบหัวใจครูหมดแรงสู้
12.วิชาชีพครู ได้รับเงินเดือนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นที่ทำงานหนักเหมือนกัน
13.ครูเป็นหนี้สินเกินรายรับ ทำให้แต่ละเดือนบัญชีในธนาคารของครูติดตัวแดง ขาดสภาพคล่อง
ฯลฯ
นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหตุผล "ทำไมครูไทยอยากลาออก" โจทย์ใหญ่และเป็นที่มาของทุกปัญหา มาจากโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เป็นธรรม ละเลยครู ให้ความสำคัญกับครูน้อยเกินไป
"วิชาชีพครู" ในทางปฏิบัติเป็นหัวใจของการพัฒนาเด็ก พัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ครูอยู่ในมุมที่ถูกลืม
แต่ครูจะกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ของพรรคการเมือง และนักการเมืองอีกครั้ง เมื่อใกล้ฤดูการเลือกตั้งใหญ่ทั้งประเทศ
เมื่อใกล้เลือกตั้ง สารพัดโครงการขนมาเอาใจครู โดยเฉพาะแก้ปัญหา “หนี้ครู” กลลวงฉายซ้ำที่ทุกพรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียง เมื่อเลือกตั้งสิ้นสุด ทุกอย่างก็จบ เหลือเพียงความฝันลมๆ แล้ว หลอกครูทั้งประเทศ