เปิดวาระ "ครม.สัญจร" กระบี่ ชงโครงการกลุ่ม 6 จ.อันดามัน งบฯหลายหมื่นล้าน
เปิดวาระ "ครม.สัญจร" พรุ่งนี้ ( 16 พ.ย. ) ชงโครงการ กลุ่ม 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน งบฯหลายหมื่นล้านบาท แค่โครงการรถไฟรางเบา จังหวัดภูเก็ต งบฯ 3.45 หมื่นล้าน
ในการประชุม"คณะรัฐมนตรีสัญจร"ที่โรงแรมโซฟิเทล โภคีธรา จังหวัดกระบี่ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันอังคารที่16 พ.ย.นี้ มีวาระที่สำคัญ คือ โครงการที่จะเสนอ "ครม.สัญจร" เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง ระนอง และสตูล) รวมแล้วหลายหมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
-โครงการชุดลอกร่องน้ำกันตัง จังหวัดตรัง
-โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ จังหวัดพังงา
- โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญเกาะคอเขา
-โครงการรถไฟรางเบางบฯ 3.45 หมื่นล้าน จังหวัดภูเก็ต
-โครงการท่าอากาศยานสตูล 4,133 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาร่องน้ำเศรษฐกิจในจังหวัดสตูล
-.โครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพศูนย์สั่งการและระบบการแพทย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน งบประมาณ 691,559,600 บาท
-โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือโดยสาร-ท่องเที่ยวปากคลองจิหลาด รองรับการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามมาตรฐานสากล (Friendly Design) งบประมาณ 35,000,000 บาท
-โครงการกิจกรรมเทศกาลการท่องเที่ยว (Festival) และกิจกรรมกีฬาเชิงการท่องเที่ยว (Sports Event)เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดกระบี่ 2565-2567 งบประมาณ 31,000,000 บาท
-โครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ และแปรรูปผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรตามมาตรฐานอาหารฮาลาล งบประมาณ 591,134,600 บาท
-โครงการพัฒนาการประมงในอ่าวพังงา (ภูเก็ต พังงา กระบี่) อย่างยั่งยืน (2566-2570) (Andaman Sustainable Fisheries Development Project, 2022-2026) (บ่อปลายักษ์) งบประมาณ 892,000,000 บาท
นอกจากนี้ต้องลุ้นกระทรวงสาธารณสุขชงค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม.1,500 บาท ต่อเดือนจากเดิมมีระยะเวลา 19 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อเวลาออกไปอีก เพื่อขอให้ได้ค่าตอบแทน 1,500 บาทตลอดชีพ
และกระทรวงสาธารณกำลังหารือในการเพิ่มสิทธิให้สามารถนำสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงิน สำหรับ อสม.ที่มีความเดือดร้อนจริงๆ เช่น ซ่อมบ้าน เป็นต้น โดยจะพิจารณาความจำเป็นเฉพาะรายและต้องได้รับการเซ็นยินยอมจากทายาทด้วย
ด้านกระทรวงศึกษาธิการ จะเสนอโครงการ อาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ” หรือ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.)ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา ซึ่งการช่วยแก้ปัญหาเด็กตกหล่นที่หลุดจากระบบการศึกษา
โครงการของ สอศ.เป็นการช่วยเหลือนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ในลักษณะโรงเรียนประจำ ผู้เรียนได้เรียนฟรี มีที่พัก พร้อมอาหาร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งในปีการศึกษา 2565 จะนำร่องที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล ก่อน ทั้งสิ้น 16 แห่ง จากนั้นจะขยายโครงการไปในวิทยาลัยสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ รวมถึงฝึกอบรม Upskill และ Reskill ให้เยาวชนด้วย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบฯ 2566-2575
ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพได้ 31,200 คนต่อปี และ Upskill และ Reskill ได้ 65,000 คนต่อปี ใช้งบประมาณเฉลี่ย 1,200 ล้านบาทต่อปี