นายกฯเปิดใจ ครม.สัญจร เร่งผลักดัน 2 โครงการสำคัญกลุ่มจังหวัดอันดามัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดใจรับการประชุมครม.สัญจร เร่งผลักดัน 2 โครงการสำคัญให้กลุ่มจังหวัดอันดามัน ชืนชมความพร้อมพี่น้องประชาชนต้อนรับนักท่องเที่ยว มอบ "ยิ้มสยาม"และความเป็นมิตร
การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือครม.สัญจร ที่จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.64 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบปี 2564 ภายหลังประเทศต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 โดยวันนี้ (16 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครม. ที่ โรงแรมโซฟิเทลกระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ อย่างไรก็ตาม เช้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา prayut chan-o-cha เปิดใจถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาประชุมครม.สัญจร ที่จ. กระบี่ โดยจะผลักดัน สองโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มจังหวัดอันดามันให้สำเร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความไว้ดังนี้
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ช่วงวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ ผมและคณะรัฐมนตรี ได้มีการตรวจราชการ ติดตามผลการดำเนินการโครงการต่างๆ และรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ มีการพิจารณานโยบายสำคัญเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การประกาศพื้นที่นำร่อง Tourism Sandbox ที่เราจะสร้างให้เป็นโมเดลต้นแบบระดับโลก การสร้างความเชื่อมโยงการขนส่งและการท่องเที่ยวกับอินเดียและประเทศในกลุ่ม BIMSTEC การส่งเสริมให้เป็นแหล่งเพาะปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่างๆ รวมถึงการเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง อีกด้วย
โดยกลุ่มจังหวัดใน "กลุ่มอันดามัน" นี้ (กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล) ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของไทย ซึ่งก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด กลุ่มจังหวัดอันดามันนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวได้มากถึงปีละ 700,000 ล้านบาท มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน หาดไร่เลย์ หาดนพรัตน์ธารา อ่าวนาง และสุสานหอย 75 ล้านปี เป็นต้น นับว่าทุกจังหวัดในพื้นที่นี้ มีความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ มีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์ มีมนต์เสน่ห์ดึงดูด ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้การเดินทางและการท่องเที่ยวหยุดชะงักทั่วโลก แต่ในวิกฤตนั้นก็มีโอกาสเสมอ โดยการโดนสถานการณ์บังคับให้ปิดสถานที่ท่องเที่ยว ในอีกทางหนึ่งก็ถือเป็นการให้เวลาธรรมชาติได้ฟื้นฟู และให้เราได้ปรับปรุงและจัดระเบียบสถานที่ท่องเที่ยวและบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อรอรับการเปิดประเทศและการหวนกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกครั้ง อาทิ การรักษาความสะอาด การบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอย การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย (safety) ในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เช่น อุปกรณ์การกู้ชีพ กู้ภัย ระบบการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency) เป็นต้น
ในส่วนของรัฐบาลนั้นมีนโยบายส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้หลายโครงการ โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เราจะได้ติดตามความคืบหน้า 2 โครงการสำคัญของทั้งสองจังหวัด ได้แก่
(1) การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ (ปี 2561 - 2568) เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว โดย เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 1,500 คน/ชั่วโมง เพิ่มเป็น 3,000 คน/ชั่วโมง หรือจาก 4 ล้านคน/ปี เป็น 8 ล้านคน/ปี ปัจจุบันลานจอดเครื่องบินสร้างเสร็จแล้ว สำหรับอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (หลังที่ 3) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 และการก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2566
(2) การปรับปรุงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ที่ใช้งานมานานกว่า 20 ปี ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก มั่นคง ปลอดภัย โดยคาดว่าจะพร้อมต้อนรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยว ให้กับจังหวัดตรังและกลุ่มจังหวัดอันดามันได้ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ โดยเมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถรับรองผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จาก 67,000 คน/ปี เป็น 90,000 คน/ปี
ทั้งสองโครงการนี้ เป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่รัฐบาลเตรียมพร้อมสู่อนาคต และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมต่อระดับของโลก ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ “ให้เชื่อมต่อง่าย สะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา” ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับโลกให้ได้เร็วที่สุด
นายกฯ กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผมได้เห็นความพร้อมและความตั้งใจของคนในพื้นที่ ในทุกๆ ด้านที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แสดงออกถึงความตระหนัก ในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่ขาดไม่ได้ คือ Service Mind หรือ “จิตใจแห่งการให้บริการ” และความเป็นมืออาชีพจากทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ คนขับรถ คนขับเรือ พนักงานในร้านอาหารและโรงแรม และทุกๆคน ที่พร้อมส่งมอบ "ยิ้มสยาม" และ “ความเป็นมิตร” จากชาวไทย ที่สร้างความประทับใจ ความทรงจำที่ไม่รู้ลืมแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก จนต้องมาเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของเรา
"ผมจึงขอให้พี่น้องทุกท่าน ในทุกภูมิภาค ร่วมกันดูแลรักษา "บ้านเกิดเมืองนอน" ของเรา ให้น่าอยู่สำหรับเราทุกคน และพร้อมรับการมาเยือนของแขกผู้มาเยือน ทั้งนักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงของประเทศสมาชิกเอเปคที่จะมาร่วมประชุม และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราให้กลับมาคึกคัก และแข็งแรงอีกครั้งในเร็ววันนี้นะครับ" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ