ข่าว

"ขึ้นทะเบียนแรงงานต่าวด้าวรอบใหม่" รัฐยืดเวลาเก็บตกถึง 30 พ.ย.นี้

"ขึ้นทะเบียนแรงงานต่าวด้าวรอบใหม่" รัฐยืดเวลาเก็บตกถึง 30 พ.ย.นี้

16 พ.ย. 2564

"ขึ้นทะเบียนแรงงานต่าวด้าวรอบใหม่" ผลักดันแรงงาน 3 สัญชาติเข้าระบบแบบถูกกฎหมาย อนุญาตนายจ้างขึ้นทะเบียนได้ถึง 30 พ.ย.นี้ ยืดเวลาทำงานในประเทศไทยได้ถึงก.พ. 2566

ภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ถือว่าระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ดังนั้นภาคแรงงานจึงเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะในงานบริการ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่อยู่ในระบบแรงงาน แต่ยังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีทั้งมาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย  ดังนั้นเพื่อเป็นการนำแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ เข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย คณะรัฐมนตรี(ครม.) จึงมีมติให้นายจ้าง สถานการประกอบการนำแรงงานที่อยู่ในความดูแลเข้าสู่ระบบทั้งหมด เพื่อ ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ โดยอนุญาตให้สถานประกอบการ ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมายภายในวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2564 เท่านั้น เพื่อให้แรงงานดังกล่าวเข้าสู่ระบบ และทำเอ็มโอยูให้ต่อไป

 

 

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ

1.แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2.แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติ 29 ธ.ค.63 แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามแนวทางดังนี้

1. กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องดำเนินการดังนี้
นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะสามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566

 

  • ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากไม่ดำเนินการดังกล่าว การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง
  • เมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้ดำเนินการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะอยู่ในราช
  •  

2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 แล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยรัฐขยายระยะเวลาการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวต้องการจะทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 และปรับปรุงทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

ขณะที่ ข้อมูลจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ของสำนักงานบริการแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคนเหลือในประเทศไทย(ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ) แบ่งตามประเภทแรงงานต่างด้าวที่ที่กฎหมายกำหนดมีดังนี้ 

จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต มีจำนวน 2,348,913 คน 

  • แรงงานประเภทฝีมือและอื่น ๆ จำนวน  217,737 คน 
  • แรงงานประเภทฝีมือ จำนวน 138,117 คน แบ่งเป็น
  • แรงงานในกลุ่มธุรกิจ BOI จำนวน 43,595 คน 
  • แรงงานต่างด้าวกลุ่มทั่วไป นักลงทุน ช่างฝีมือชำนาญการ จำนวน 94,522 คน 
  • แรงงานชนกลุ่มน้อย 79,552 คน 
  • แรงงานต่างด้าวตลอดชีพ 68 คน 

 

แรงงานประเภททั่วไป จำนวน 2,131,176 คน 

  • แรงงานจากประเทศกัมพูชา 455,340 คน
  • แรงงานจาก สปป.ลาว 213,145 คน 
  • แรงงานจากเมียนมาร์ 1,462,554 คน
  • แรงงานจากประเทศเวียดนาม 137 คน 

 

จำนวนแรงงานประเภททั่วไป แบ่งเป็น

  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU  จำนวน 594,405 คน 
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติครม. ( 20 สิงหาคม 2562 ) จำนวน 920,784 คน 
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติครม. (4 สิงหาคม 2563) จำนวน 210,608 คน 
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติครม. (29 สิงหาคม 2563) จำนวน 405,379 คน 

ขณะนี้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนประมาณ 12,000 คน 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจำนวน  800,000 คน แบ่งเป็นภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมจำนวน  500,000 คน ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องจำนวน  300,000 คน หากแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานไม่ทันจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจค่อนข้างมาก