ศมข.พัทลุง คุม-เข้ม คุณภาพ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ช่วยลดต้นทุนนาแปลงใหญ่
ศมข.พัทลุง คุม-เข้ม คุณภาพ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ช่วยลดต้นทุนนาแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการไปในแนวทางเดียวกัน
นายอัมพร ทองไชย ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง กล่าวว่า นโยบายระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งปัจจัยสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ที่จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้
นั่นคือ "เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี" กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง เป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และมีภารกิจที่สนับสนุนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ช่วยให้ชุมชนและกลุ่มเกษตรกรชาวนาเกิดความเข้มแข็ง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งขึ้นก็เพื่อผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" เพื่อใช้ในการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตข้าวทั่วประเทศ และกระจายเมล็ดข้าวพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
นายณรงค์ นาคะสรรค์ หัวหน้ากลุ่มควบคุมคุณภาพ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ได้กำหนดให้มีการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มงวด ตั้งแต่การผลิตในแปลงขยายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ก่อนการจัดซื้อ เมล็ดพันธุ์ระหว่างการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ หลังปรับปรุงสภาพ จนถึงเมล็ดพันธุ์ดีที่อยู่ระหว่างการเก็บรักษาในโรงเก็บ และทางศูนย์ฯ ใช้มาตรฐาน "เมล็ดพันธุ์ข้าว" กรมการข้าว พ.ศ. 2557 เป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อ "เมล็ดพันธุ์" คืนจากเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์โดยมีมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ได้แก่
1) ความบริสุทธิ์ของ "เมล็ดพันธุ์" ต้องมีเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อการจำหน่าย 98 % มีสิ่งเจือปนได้ไม่เกิน 2 % 2) ความชื้น ไม่เกิน 14 % ความชื้น คือปริมาณน้ำในเมล็ด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพและมีผลโดยตรงต่ออายุการเก็บรักษา สามารถทำการทดสอบได้ 2 วิธี
1. วิธีอบไล่ความชื้นด้วยความร้อนในตู้อบ อบด้วยอุณหภูมิสูงที่ 130-133 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง 2. การวัดความชื้นโดยใช้เครื่อง เครื่องวัดความชื้นที่นิยมใช้ในห้องปฏิบัติการคือ เครื่องวัดแบบไฟฟ้า Steinlite SB900 เป็นการวิธีที่สะดวกและทราบผลอย่างรวดเร็วและเป็นวิธีที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปฏิบัติ โดยทำซ้ำ 2 ครั้ง
3) ข้าวแดง ชั้นพันธุ์ขยายข้าวแดงจะมีได้ 1 เมล็ด ชั้นพันธุ์จำหน่ายเมล็ดแดงมีได้ไม่เกิน 5 เมล็ดจากเมล็ดพันธุ์ 500 กรัม 4)ความงอก เมล็ดพันธุ์ข้าวจะต้องมีความงอกไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 % นำเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์มาทดสอบความงอกเพื่อวัดความสามารถในการงอกของเมล็ด เมื่อได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ แสง และมีวัสดุเพาะที่เหมาะสม
การทดสอบความงอกมีหลายวิธีโดยการทดสอบความงอกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปฏิบัติกันของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวมี 2 วิธี คือ 1. การทดสอบความงอกโดยการเพาะบนกระดาษ (Top of Paper, TP) และ 2. การทดสอบความงอกโดยการเพาะระหว่างกระดาษ (Between Paper, BP) โดยทำการทดสอบความงอก กล่องละ 100 เมล็ด ทำ 4 ซ้ำ ต่อตัวอย่าง
"เมล็ดพันธุ์"ดีมีคุณภาพ สำคัญที่สุดในกระบวนการเริ่มต้น ถ้าได้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งเมล็ดพันธุ์ดี ได้ประกอบเกษตรกรมีแปลงนาที่ดี ดินดี มีองค์ความรู่ที่เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดให้ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพแน่นอนสำหรับกลุ่มแปลงใหญ่จะสำเร็จได้ส่วนหนึ่งก็คือเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ถ้าได้รับเมล็ดพันธุ์ดี การใช้เมล็ดพันธุ์ดีทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากใช้ในปริมาณน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดต้นทุนการผลิต เพราะผ่านการคัดเลือกรวงที่สมบูรณ์แล้ว จึงลดเชื้อโรคและการใช้สารเคมีกำจัดโรค ผลผลิตสูง และทำให้กำไรต่อพื้นที่มากกว่า หัวหน้ากลุ่มควบคุมคุณภาพกล่าว
จะเห็นได้ว่า กว่าที่เกษตรกรทั่วไปหรือกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่จะได้รับการสนับสนุน "เมล็ดพันธุ์ข้าว" คุณภาพไปใช้เพาะปลูกนั้น ตลอดกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์สิ่งสำคัญมากที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศคำนึงถึงคือ การควบคุมคุณภาพ เพื่อจะทำให้เกิดความมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตมีคุณภาพดี ตามมาตราฐานที่กำหนด รวมทั้งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เกษตรกร และลูกค้าว่าได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีไปเพาะปลูก เพื่อเกษตรกรจะได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของตนเอง ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนและกลุ่มมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้