“กุลธิดา” พูดในคลับเฮ้าส์ ทำไมครูไทยอยากลาออก ชี้ต้องแก้ที่ระบบราชการไทย
“กุลธิดา” เปิดความคิดในเวทีคลับเฮ้าส์ ทำไมครูไทยอยากลาออก ชี้ต้องแก้ที่ระบบราชการไทยที่เป็นแบบรวมศูนย์ แนะจัดตั้งสหภาพครูอย่างเป็นระบบเพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมี และพัฒนาวิชาชีพครูและผู้บริหารอย่างเป็นระบบ
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจและแหลมคมมากต่อการพัฒนาการศึกษาไทย ที่มีครูเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาของชาติ ที่วันนี้ครูเป็นทุกอย่างของนักเรียนและโรงเรียน จนเกิดเป็นประเด็นว่าทำไมครูอยากลาออก “คมชัดลึก” ชวนไปฟังบางความคิดและมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ของครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
ประเด็นร้อนเรื่องสภาพการทำงานของครูไทยที่สะสมปัญหาเรื่อยมา หมักหมมจนปะทุพรั่งพรูออกมาเป็นบทสนทนาชวนปวดใจใน Clubhouse "ทำไมครูไทย(อยาก) ลาออก" ยาวนานต่อเนื่องถึง 4 ชั่วโมงเต็ม กับผู้ร่วมฟังถึง 4,200 คน ที่ร่วมสะท้อนปัญหา จากการรับฟังปัญหาของครูไทย ดิฉันพบว่าปัญหาที่หยั่งรากลึกที่สุดหนีไม่พ้นวัฒนธรรมของระบบราชการที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวมศูนย์อำนาจ ขาดการตรวจสอบ และอำนาจนิยมขั้นสุด โดยครูไทยต่างเผชิญกับวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่สร้างการพัฒนาด้านอาชีพอันเนื่องมาจากปมปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
1. การขาดความเป็นมืออาชีพในการทำงานของผู้บริหารทั้งในระดับกระทรวงศึกษาธิการและระดับรองลงมา เช่น การใช้ครูผู้น้อยทำงานส่วนตัว การส่งต่อนโยบายโดยปราศจากทิศทาง
2. การขาดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพภายในองค์กร เช่น หน่วยงานแต่ละหน่วยแยกกันทำงานทำทั้งที่เป็นงานส่วนเดียวกันแต่ก็มอบหมายหลายรอบ ให้เกิดการสั่งงานซ้ำซ้อน และซับซ้อน
3. การทำงานแบบไร้ความรับผิดรับชอบ (accountability) ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่ามักไม่ต้องรับผิดรับชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เพราะขาดระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบมักเกิดกับผู้น้อยเท่านั้น และผู้น้อยมักต้องรับผิดชอบเกินส่วนความรับผิดชอบของตัวเองโดยผู้ที่มีอำนาจมากกว่าใช้ช่องโหว่ของระเบียบในการเอาเปรียบผู้น้อย เช่น การเซ็นชื่อเป็นผู้รับมอบสิ่งของหรืออาคารของครูพัสดุ
4. วัฒนธรรมเอาหน้า การทำงานโดยเน้นการนำเสนอผลงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนจริง ๆ เพื่อเป็นบันไดทางอาชีพมากกว่าการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ซึ่งส่งผลต่อวิธีการประเมินการทำงานในทุกระดับ ที่ไม่ได้วัดประเมินจากผลที่เกิดกับตัวนักเรียน แต่กลับประเมินที่กลวิธีการนำเสนอ หรือความรู้จักส่วนตัว ทำให้ผู้น้อยต้องเผชิญกับความไม่ยุติธรรม
5. การขาดความตระหนักรู้ด้านสิทธิและสวัสดิภาพในการทำงานจากมุมมองของออกระเบียบและการปฏิบัติงานจริงในโรงเรียน เช่น การบังคับอยู่เวรกลางคืน การไม่จัดหาบ้านพักครูที่สะอาด ปลอดภัย การขาดการดูแลเรื่องสภาพจิตใจในการทำงานของครู การนับชั่วโมงการทำงานของครูที่นับเฉพาะชั่วโมงสอน แต่ไม่รวมชั่วโมงการเตรียมงาน ตรวจการบ้าน ประชุมกับครูแผนกอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเกิดขึ้นต้องจัดการให้เกิดขึ้นทั้งในเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ทำงานการทำความเข้าใจปัญหาค่านิยมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ดิฉันขอเสนอให้เกิดการจัดตั้งสหภาพครูอย่างเป็นระบบเพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมี และพัฒนาวิชาชีพครูและผู้บริหารอย่างเป็นระบบ นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ และเป็นองค์กรที่ช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอีกหนึ่งช่องทาง
นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้มีการทำ open data ของรัฐเพื่อเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ของการบริหารจัดการทั้งระดับกระทรวงฯ และภายในโรงเรียนเพื่อให้ชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบได้โดยสะดวก กลไกการตรวจสอบที่เข้มแข็งจะช่วยลดอัตราการทุจริต และลดขั้นตอนการทำงานอันซ้ำซ้อน และการรับผิดชอบที่ผิดส่วนของผู้น้อย
ในส่วนของโครงสร้างการจัดการทรัพยากรของระบบราชการอันย่ำแย่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนี้
1. ระบบงบประมาณรายหัว ทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ได้งบประมาณมาก ดึงดูดคนมาทำงาน ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กกลับถูกทอดทิ้ง และอาจโดนคำสั่งยุบโดยไม่เกิดการแลกเปลี่ยนกับชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ การจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญเพราะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และตัวนักเรียนเอง การจัดระบบงบประมาณด้วยระบบมาตรฐานขั้นต่ำที่โรงเรียนแต่ละขนาดพึงมี ซึ่งมีตัวอย่างจากโมเดล FSQL หรือ (Fundamental School Quality Level) ที่กำหนดมาตรฐานให้โรงเรียนพึงมี 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการ การพัฒนาครู โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ที่จำเป็น การดำเนินนโยบายการมีส่วนร่วม และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพื่อช่วยให้โรงเรียนได้รับงบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมเพียงพอ ส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ รวมถึงการขาดแคลนครูได้
2. ครูทำงานไม่ตรงสาย ส่งผลให้ครูขาดแคลน ระบบรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ส่วนกลางทำให้การเปิดสอบ การคัดเลือก การบรรจุ รวมไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น ด้วยความกลัวการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุทำให้ไม่กระจายอำนาจการตัดสินใจไปที่โรงเรียน
ดิฉันมองว่าหน้าที่ส่วนกลางคือการอำนวยความสะดวกในการเปิดสอบครูอย่างเป็นระบบและครอบคลุม โรงเรียนควรได้ตัดสินใจเลือกบุคลากรเองผ่านกรรมการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ สำคัญยิ่งไปกว่านั้นควรใช้ฐานข้อมูลในการสำรวจ และออกแบบจำนวนครูที่ต้องผลิต และผลิตได้ รวมถึงต้องควบคุมคุณภาพครูที่ออกมาจากสถาบันผลิตครูให้ได้ เช่น หากผลิตครูจำนวนมากแต่กลับสามารถสอบผ่านเกณฑ์การบรรจุได้น้อยมาก สถาบันนั้น ๆ ควรได้รับการพิจารณาให้เกิดการแก้ไขตามกรอบเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถทำได้ต้องเกิดการรับผิดรับชอบ นอกจากนี้ยังควรมีการการันตีเงินเดือนและสวัสดิการขั้นต่ำของครูประเภทสัญญาจ้างหากโรงเรียนต้องการทำสัญญาจ้าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดควรเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน
3. การตัดสินใจทำนโยบายแบบต้นปีอย่างท้ายปีอย่าง การขาดทิศทางมาจากการทำงานที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลที่เก็บได้ ส่วนนี้มีปัญหาสองขยัก ได้แก่ ปัญหาการเก็บข้อมูลที่ไม่ได้ประสิทธิภาพจึงไม่สามารถนำข้อมูลมาตัดสินใจได้จึงต้องพึ่งพาความเห็นของกลุ่มบุคคลมากกว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ ทำให้แผนที่ออกมาหมุนไปตามความเห็นของกลุ่มบุคคลมากกว่ามาจากข้อมูลและงานวิจัย ผลกระทบจึงตกอยู่ที่ครูและนักเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4. ครูทำงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานสอน เกิดจากการขาดทรัพยากร และระบบการทำงานที่ซับซ้อน เต็มไปด้วยขั้นตอนและพิธีการมากกว่าการคิดถึงประสิทธิภาพ รวมถึงโรงเรียนไม่มีงบประมาณที่สามารถจัดสรรมาใช้ได้เนื่องจากติดกรอบระเบียบราชการต่าง ๆ ครูจึงต้องทำงานอื่น ๆ มากมาย ซึ่งตามข้อมูล ครูไทยทำงานอื่น 84 วัน จาก 200 วันที่ไปทำงาน
ที่สุดแล้วการปฏิรูประบบราชการอย่างถึงราก ลดขั้นตอนการทำงาน ปล่อยให้การตรวจสอบมาจากการ open data เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ลดการตรวจสอบที่ไม่จำเป็น น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของการเริ่มปฏิรูปวัฒนธรรมการทำงานแบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อเสนอหลักของการแก้ไขคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ที่ค่านิยมทางการศึกษาและระบบราชการ
แลกเปลี่ยนกันต่อได้นะคะ
รออ่านความเห็นของทุก ๆ คนอยู่
#ทำไมครูไทยอยากลาออก