ข่าว

“ไชยันต์”ชำแหละร่างรธน.ฉบับปิยบุตร ชี้ตั้งเป้าสู่คณาธิปไตย+ประชาธิปไตย

“ไชยันต์”ชำแหละร่างรธน.ฉบับปิยบุตร ชี้ตั้งเป้าสู่คณาธิปไตย+ประชาธิปไตย

16 พ.ย. 2564

“ไชยันต์” ระบุร่างรัฐธรรมนูญฯ หมวดพระมหากษัตริย์ของ “ปิยบุตร” ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบคณาธิปไตย+ประชาธิปไตย โดยให้มีราชาธิปไตยเพียงแต่ในนาม

วันนี้ (16 พ.ย.) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ถึงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯของ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่วันนี้ (16 พ.ย.) ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... ฉบับประชาชน ที่มี รศ.ดร.ปิยบุตร และนายพริษฐ์ วัชรสินธ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และประชาชนกว่า 1.3 แสนคนลงชื่อเสนอแก้ไขร่าง รธน. ฉบับดังกล่าวต่อรัฐสภา

 

ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า หลักการและเหตุผลของร่างฯ นี้ คือ ให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรอย่างสมบูรณ์เด็ดขาด ดังปรากฏในรายละเอียดต่าง ๆ ที่กินความไปถึงการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และแม้ว่ากิจการของรัฐหลายอย่างจะมาจากรับสนองฯ โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่นายกรัฐมนตรีคือผู้ที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
 

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงยากที่จะแยกออกจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และหากพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นคณะบุคคล ก็ถือว่าร่างฯ นี้ ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบคณาธิปไตย+ประชาธิปไตย โดยให้มีราชาธิปไตยเพียงแต่ในนาม ที่ว่าคณาธิปไตย+ประชาธิปไตย เพราะ คณะบุคคลจะมีอำนาจทางการเมืองได้ ก็ต้องผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยหรืออำนาจประชาชนขาดความอิสระและเข้มแข็ง นั่นคือการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เที่ยงธรรม โอกาสที่จะเกิดระบอบคณาธิปไตยโดยปราศจากประชาธิปไตย ก็จะมีความเป็นไปได้สูงมาก จากการที่คณะบุคคลที่เป็นนักการเมืองมีอำนาจอิทธิพลครอบงำการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน

ตัวแบบการปกครองของร่างฯ นี้ ดูจะตรงกับตัวแบบที่ 3 นักรัฐศาสตร์ชั้นนำสาขาการเมืองเปรียบเทียบตะวันตกได้เสนอไว้เมื่อราว พ.ศ. 2557 ที่เรียกว่า Democratic Parliamentary Monarchy (DPM) เพื่อทำให้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือ Constitutional Monarchy (CP) มีความเป็นประชาธิปไตยที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจำกัดพระราชอำนาจหรือแทบจะไม่ให้มีพระราชอำนาจหลงเหลืออยู่

 

นั่นคือ พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ลงพระปรมาภิไธยเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในฐานะประมุขของรัฐเท่านั้น DPM ต้องการไม่ให้เกิดช่องว่างใดๆที่จะมีการปรึกษาหารือ (ต่อรอง) ระหว่างพระมหากษัตริย์กับฝ่ายการเมือง ใน “กิจการของรัฐ” ดังที่เกิดขึ้นได้ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ CP (Constitutional Monarchy)

 

ตัวอย่าง: ผู้เสนอร่างฯนี้ อาจจะเห็นว่า การตรา พรบ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือ พรก โอนกำลังพล เกิดจากช่องว่างหรือการปฏิสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างพระมหากษัตริย์กับ สนช หรือ คณะรัฐมนตรีและบางส่วนในสภาผู้แทนราษฎร

 

ซึ่งหากไม่ใช่ DPM ก็ไม่สามารถทัดทานไม่ให้เกิดการตรา พรบ และ พรก ดังกล่าว ได้อยู่ดี แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะเป็น DPM ที่นักรัฐศาสตร์เหล่านั้นกำหนดไว้คือ การเลือกตั้งจะต้องเสรีและเที่ยงธรรม เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจอิสระอย่างแท้จริง และสามารถตรวจสอบถ่วงดุลผ่านการเลือกตั้งและการทำประชามติได้อย่างแท้จริง

----------

มาตรา ๗ กิจการของรัฐ คืออะไรและมีขอบเขตแค่ไหน ?

ข้อดี คือ มีความชัดเจนที่พระมหากษัตริย์จะไม่ต้องรับผิดชอบในกิจการต่างๆของรัฐในภาวะปกติ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับข้อคิดที่ อริสโตเติล ได้ให้ไว้ว่า

 

“โดยทั่วไป วิธีการธำรงรักษาราชาธิปไตยก็คือ วิธีการที่ตรงกันข้ามกับวิธีการที่ทำลาย...สถาบันกษัตริย์จะยั่งยืนนานได้ก็โดยการจำกัดอำนาจ ยิ่งมีอำนาจน้อยเท่าไร ก็จะยั่งยืนโดยไม่เสียหายยาวนานมากขึ้นเทานั้น เมื่อกษัตริย์ทรงกระทำการด้วยการไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง ไม่พยายามใช้อำนาจตามอำเภอใจ พระองค์ก็ไม่ต่างจากพลเมืองของพระองค์ และพลเมืองก็จะอิจฉาพระองค์น้อยลง”

 

แต่ข้อคิดของอริสโตเติลที่ว่านี้ มุ่งหมายที่จะสื่อสารถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตย เพื่อให้พระองค์ได้ทรงไตร่ตรองอย่างระมัดระวังก่อนที่จะใช้พระราชอำนาจ นั่นคือ ให้พยายามใช้พระราชอำนาจอย่างจำกัดโดยพระองค์เอง เพื่อที่จะรักษาการปกครองของพระองค์ให้ยั่งยืนยาวนาน

 

ขณะเดียวกัน การคาดหวังในตัวบุคคลให้มีสติไตร่ตรองและใช้อำนาจทางการเมืองอย่างระมัดระวังนั้น เป็นการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลอย่างยิ่ง และมีความเป็นอุดมคติมาก ไม่ว่าตัวบุคคลผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้น จะเป็นเอกบุคคล (พระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี ฯ) คณะบุคคล (สภาผู้แทนราษฎร, คณะรัฐมนตรี, ตุลาการ, องค์กรอิสระ ฯ) และคนส่วนใหญ่ (ประชาชน)

 

การคาดหวังในตัวบุคคล คณะบุคคลหรือคนส่วนใหญ่ให้ใช้อำนาจอย่างไตร่ตรองและพอประมาณ ถือเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง

อริสโตเติลจึงได้เสนอรูปแบบการปกครองที่ไม่ให้คาดหวังในตัวคนมากเกินไปนัก โดยเสนอรูปแบบการปกครองที่ไม่ให้อำนาจตกอยู่ที่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเอกบุคคล, คณะบุคคล, หรือคนส่วนใหญ่

 

(หมายเหตุ: โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเอกบุคคล หรืออย่างที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษว่า Monarchy ซึ่งมาจาก mono+archy ความหมายตรงตัวคือ การปกครองโดยเอกบุคคล หาได้จำเป็นว่าจะต้องหมายถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังสามารถหมายถึงประธานาธิิบดีได้ด้วย หากจะประยุกต์)

 

รูปแบบการปกครองที่ว่านี้คือ รูปแบบการปกครองแบบผสม (Mixed government) ที่ผสมทั้งสามรูปแบบการปกครองเข้าด้วยกัน

นั่นคือ การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของเอกบุคคล, คณะบุคคล และคนส่วนใหญ่

เพื่อให้ทุกส่วนมีการแชร์และใช้อำนาจร่วมกัน และให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน และไม่ให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่แก่ลำพังส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น อันจะทำให้เกิดการปกครองอย่างเผด็จการขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการโดยคนๆเดียว หรือคณะบุคคล หรือเผด็จการโดยคนส่วนใหญ่

 

ข้อเสียของมาตรา ๗ คือ จำกัดในการใช้พระราชอำนาจในภาวะไม่ปกติ การใช้พระราชอำนาจในภาวะไม่ปกติ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญ

คำถามคือ ผู้เสนอร่างฯ ยังคงให้มีมาตราที่ว่าด้วย ประเพณีการปกครอง หรือไม่ ?

แต่ปัญหาของการให้ใช้ประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยามที่ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มีดังนี้คือ

หนึ่ง ประเทศที่เพิ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่นาน อาจจะยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่เป็นที่รับรู้และยอมรับร่วมกันของผู้คนในสังคม

สอง เมื่อกล่าวถึง ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะให้ถือตามประเทศตะวันตกแค่ไหน ? และประเทศอะไร ? และในช่วงเวลาใด ?

-------------------

กรณีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๑๐ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม พระมหากษัตริย์ต้องทรงแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนแต่ต้องไม่เกินสามคน ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐแทนในระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้

 

ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่สามารถจะทรงแต่งตั้งได้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นเป็นการชั่วคราว

 

ข้อสังเกต: หากหลักการของผู้เสนอร่างฯนี้ ต้องการให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรอย่างสมบูรณ์เด็ดขาด และพระมหากษัตริย์ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) เป็นเพียงตรายางอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการโดยพระมหากษัตริย์จะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอีก

 

ดังในกรณีของสหราชอาณาจักร ได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำเร็จราชการแทนพระองค์ พ.ศ. 2480 หรือ the Regency Act 1937 กำหนดให้ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Counsellors of State) อันประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ คู่สมรสของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อีกสี่พระองค์ที่อยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ที่มีพระชนมายุเกิน 21 ปี ซึ่งในปัจจุบัน ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส (the Prince of Wales) เจ้าชายวิลเลียม (the Duke of Cambridge) เจ้าชายแฮรี่ และเจ้าชายแอนดรูว์ (Duke of York) ทั้งสี่พระองค์เหล่านี้คือบุคคลที่อยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ที่มีพระชนมายุเกิน 21 ปืที่สามารถทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

แต่ถ้านับผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์แท้จริง คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายจอร์จ

ข้อดี: ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ “ต้อง” ทรงแต่งตั้ง ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดว่า จะแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้นั้น คือ หลักประกันความต่อเนื่องในการปฏิบัติภารกิจของประมุขของรัฐอันปรากฎอยู่ในสาะสำคัญของ the Regency Act 1937

 

ข้อแย้ง: ในโลกสมัยใหม่ การที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร พระองค์ก็สามารถลงพระปรมาภิไธยได้โดยผ่านระบบอิเลกทรอนิคได้

 

ข้อแย้งต่อข้อแย้ง: ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้การลงพระปรมาภิไธยผ่านระบบอิเลกทรอนิคได้ก็จริง แต่การอาศัยการลงพระปรมาภิไธยผ่านระบบดังกล่าว อาจเกิดการปลอมแปลงหรือหากเกิดข้อขัดข้องทางเทคนิคขึ้น ก็จะมีปัญหาในความต่อเนื่องในการปฏิบัติพระราชภารกิจขึ้นทันที

 

ดังนั้น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยามที่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรจึงเป็นหลักประกันที่ดีและปลอดภัยที่สุด

 

ข้อดีของการต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร:

คือ ความชอบธรรม เท่ากับว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้รับความเห็นชอบจากทั้งพระมหากษัตริย์และสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ในกรณีที่ไม่เกิดความเห็นต่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎร และในกรณีที่ไม่เกิดความเห็นต่างที่ต้องใช้เสียงข้างมากตัดสินในสภาผู้แทนราษฎร

 

ข้อเสียของการต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร:

คือ หากเกิดความเห็นต่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎร แต่เสียงตัดสินสุดท้ายคือสภาผู้แทนราษฎร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ได้มานั้นอาจจะไม่ใช่พระองค์ที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ จะเกิดปัญหาดังต่อไปนี้ได้

 

หนึ่ง ตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มักจะแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในลำดับแรกของการสืบราชสันตติวงศ์ หากพระชนมายุไม่ถึง ก็จะแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในลำดับถัดไปในการสืบราชสันตติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการฯ เพราะหากราชบัลลังก์ว่างลง ผู้ที่อยู่ในลำดับแรกก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ดี ก็คือผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปหรือคู่สมรสของพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไป


หากพระมหากษัตริย์และสภาผู้แทนราษฎรเห็นพ้องต้องกันในหลักการดังกล่าวนี้ ความเห็นต่างในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการจะไม่เกิดขึ้น

 

แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในหลักการดังกล่าวนี้ ก็ย่อมจะเกิดความเห็นต่าง และเป็นปัญหาขัดแย้งกันระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ และถ้าประชาชนล่วงรู้ถึงความขัดแย้งดังกล่าวนี้ ก็อาจจะเกิดความแตกแยกระหว่างประชาชนที่สนับสนุนพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่สนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรขึ้นได้

 

สอง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มิได้มีภารกิจเพียงแต่ในกิจการของรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องราวในพระบรมวงศานุวงศ์ (หรือภายในครอบครัวของพระมหากษัตริย์ด้วย) การมีผู้สำเร็จราชการที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์ย่อมจะขาดความชอบธรรมในการดูแลกิจการภายในของพระมหากษัตริย์

 

ดังครั้งหนึ่ง ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ต้องเสด็จประพาสต่างประเทศ และผู้ที่อยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์คือ เจ้าฟ้าหญิงมากาเรต ดังนั้น ภายใต้ พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. 1937 จะต้องแต่งตั้งเจ้าฟ้าหญิงมากาเรตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และยังทรงมีสิทธิ์ขาดในการดูแลเจ้าฟ้าชาร์ลสด้วย

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “น้าสาวจะเป็นผู้ปกครองของหลานชาย (เจ้าฟ้าชายชาร์ลส) แทนที่จะเป็นบิดาของเขา (เจ้าชายฟิลลิป)” อันเป็นสภาวะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งต่อการรับรู้ของผู้คนทั่วไป

 

ดังนั้น จึงเกิดการตรา พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. 1937 ฉบับแก้ไข ค.ศ. 1953 ที่กำหนดให้คู่สมรสของพระมหากษัตริย์ (สมเด็จพระราชินีนาถ) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ก็ตาม

 

สาม หากพระมหากษัตริย์หรือสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เลือกหรือให้ความเห็นชอบผู้ที่จะทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยพิจารณาตามลำดับของผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ โดยไม่ใช่กรณีของคู่สมรส

สังคมอาจจะเข้าใจไปได้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองคนั้นคือผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์

หรือแม้นว่า สังคมจะไม่ได้เข้าใจเช่นนั้น แต่หากผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเกิดได้รับความนิยม แต่มิได้เป็นอยู่ในลำดับแรกของผู้สืบราชสันตติวงศ์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อผู้มีสิทธิ์ในลำดับต้นขึ้นมา

 

ในกรณีนี้ ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้น หากสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายในการเลือกผู้สำเร็จราชการฯ แม้นว่าผู้นั้นจะไม่อยู่ในลำดับต้นของการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะจะเท่ากับว่า สภาผู้แทนราษฎรจะทำการวางตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามความต้องการของสภาผู้แทนราษฎร

 

และยิ่งถ้าไม่ได้เสียงเป็นเอกฉันท์ แต่มีความขัดแย้งเห็นต่างในสภา ก็ยิ่งส่งผลต่อประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองของตนหรือสนับสนุนพรรคที่เลือกบุคคลที่ประชาชนเห็นชอบ ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

---------------

กรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณในสภาผู้แทนราษฎร

“ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรทุกประการ”

 

ข้อดี: แม้ว่าการปฏิญาณจะเป็นพิธีกรรม ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ผลผูกมัดเท่ากับตัวบทรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน

แต่กระนั้น การปฏิญาณตนก็ยังคงดำเนินอยู่ในทุกประเทศ เพื่อทำให้การเข้ารับตำแหน่งมีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญต่อผู้ปฏิญาณตนในการรับรู้ของสาธารณะ

 

พระมหากษัตริย์ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งก็ถือเป็นการปฏิญาณพระองค์อย่างหนึ่ง เป็นการแสดงพระราชปณิธานหรือหลักการในการครองราชย์ของพระองค์

แต่ผู้สำเร็จราชการฯมิได้ผ่านพระราชพิธีฯ จึงเป็นเรื่องสมควรที่จะให้ผู้สำเร็จราชการฯต้องปฏิญาณตน

แต่คำถามคือ ควรจะปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์หรือสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ?

 

ซึ่งผู้เสนอร่างฯ กำหนดให้ปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎร น่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า อำนาจสุดท้ายในการตัดสินแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร และด้วยตรรกะเดียวกันนี้เองที่ พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้ารับหน้าที่ เพราะในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงตั้งพระรัชทายาทไว้หรือไม่ก็ตาม ผู้สืบราชสันตติวงศ์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

 

ข้อดี: ผู้ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ มิใช่เพียงตามกฎมณเฑียรบาลเท่านั้น แต่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น มีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ทำให้อาจกล่าวอ้างได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความเป็นประชาธิปไตยหรือได้รับความนิยมทั่วไปโดยมีหลักฐานประจักษ์พยานผ่านสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ Democratic Monarchy หรือ Popular Monarchy

 

ข้อเสีย: ดูเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้ว ในเรื่องของการครอบงำประชาชนโดยคณาธิปไตย-นักการเมือง หรือ ความแตกแยกในสภาที่ส่งผลต่อความแตกแยกของประชาชน หรือความแตกแยกของประชาชนที่ส่งผลกดดันต่อการตัดสินในสภาผู้แทนราษฎร

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจติดตามคือ สาระใน “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์” ที่ผู้เสนอร่างฯต้องการให้มาแทนที่กฎมณเฑียรบาล