ข่าว

อยู่ต่อได้ ครม.ขยายเวลา "คนต่างด้าว" ที่อยู่เกิน 90 วัน อยู่ยาวถึงสิ้นปี 64

อยู่ต่อได้ ครม.ขยายเวลา "คนต่างด้าว" ที่อยู่เกิน 90 วัน อยู่ยาวถึงสิ้นปี 64

16 พ.ย. 2564

ครม.อนุมัติขยายเวลาอนุญาตให้ "คนต่างด้าว" บางจำพวกในเงื่อนไข 3 ข้อ ที่อยู่เกิน 90 วัน อยู่ต่อได้ถึง 31 ธ.ค.2564

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดกระบี่ (ครม.สัญจรฯ) วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพื่อเป็นการแก้ไข และบรรเทาผลกระทบแก่คนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักร และการแจ้งที่พักอาศัยต่อไปได้ ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนี้

 

  1. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา Visa on Arrival)
  2. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง
  3. กำหนดให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วันแล้ว ครบกำหนดระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ให้ได้รับการขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ถึง 31 ธันวาคม 2564

 

ขณะที่ ข้อมูลจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ของสำนักงานบริการแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือในประเทศไทย(ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ) แบ่งตามประเภทแรงงานต่างด้าวที่ที่กฎหมายกำหนดมีดังนี้ 

จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต มีจำนวน 2,348,913 คน 

  • แรงงานประเภทฝีมือและอื่น ๆ จำนวน  217,737 คน 
  • แรงงานประเภทฝีมือ จำนวน 138,117 คน แบ่งเป็น
  • แรงงานในกลุ่มธุรกิจ BOI จำนวน 43,595 คน 
  • แรงงานต่างด้าวกลุ่มทั่วไป นักลงทุน ช่างฝีมือชำนาญการ จำนวน 94,522 คน 
  • แรงงานชนกลุ่มน้อย 79,552 คน 
  • แรงงานต่างด้าวตลอดชีพ 68 คน 

 

แรงงานประเภททั่วไป จำนวน 2,131,176 คน 

  • แรงงานจากประเทศกัมพูชา 455,340 คน
  • แรงงานจาก สปป.ลาว 213,145 คน 
  • แรงงานจากเมียนมาร์ 1,462,554 คน
  • แรงงานจากประเทศเวียดนาม 137 คน 

 

จำนวนแรงงานประเภททั่วไป แบ่งเป็น

  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU  จำนวน 594,405 คน 
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติครม. ( 20 สิงหาคม 2562 ) จำนวน 920,784 คน 
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติครม. (4 สิงหาคม 2563) จำนวน 210,608 คน 
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติครม. (29 สิงหาคม 2563) จำนวน 405,379 คน 

 

ขณะนี้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนประมาณ 12,000 คน