ย้อนรอย เส้นทางเคลื่อนไหว ทำไม “องค์กรครู” ยุค 2564 ถึงอ่อนแอ
#ครูเป็นทุกอย่าง #ทำไมครูไทยอยากลาออก สะท้อนภาพครูสิ้นสุดความอดทน ต้องระบายผ่านโลกโซเชียล ในสถานการณ์ที่ครูไร้ผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่เป็นที่พึ่งได้ แตกต่างจากในอดีตที่ "องค์กรครู" ทรงพลัง มีอำนาจบารมีล้นเหลือ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ทำไม..มาถึงจุดที่อ่อนแอ
ย้อนรอยเส้นทาง “องค์กรครู” ระดับแกนนำในยุทธจักรนักเคลื่อนไหวสายครูล้วนทราบดีว่า “อวยชัย วะทา” กับ “ตวง อันทะไชย” เป็นสหายร่วมรบกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยต่อสู้ปลดแอก ครูประชาบาล จากกระทรวงมหาดไทย
การเคลื่อนไหวของ “อวยชัย วะทา” ในวัย 23 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงหลังยุค 14 ตุลา ขณะนั้นครูอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย เป็น ครูประชาบาล และถือเป็นความตกต่ำของวงการครู
ปี2520-2522 “อวยชัย วะทา” ในฐานะเลขาธิการครูภาคอีสาน จับมือสมาพันธ์ครูแห่งประเทศไทยเข้าร่วมกับชมรมครูประชาบาลแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ครูประชาบาลปลดแอกจากกระทรวงมหาดไทยจนเป็นผลสำเร็จ นำมาสู่การตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.)ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)
ผู้นำ “องค์กรครู” ในยุคนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายคน และปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ อาทิ อวยชัย วะทา, สุชน ชาลีเครือ,นิพนธ์ ชื่นตา,ชิงชัย มงคลธรรม,ปรีดา บุญเพลิงอดีตเลขาธิการชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ฯลฯ
การแยก “ครูประชาบาล” ออกมาจากกระทรวงมหาดไทยในครั้งนั้น เป็นการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของ “องค์กรครู” ปรากฏการณ์ครั้งนั้นได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับ “ครู” ทั่วประเทศ “ครู” ได้รับการยกย่องเชิดชูกให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่ทรงคุณค่าเป็นปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งของครูและสังคมได้
เหนืออื่นใด “อวยชัย วะทา” ไม่ได้เคลื่อนไหวในนามของ “องค์กรครู” เท่านั้น อวยชัย ยังได้เข้าร่วมกับเกษตรกรในนามของ สมัชชาเกษตรกรรายย่อย ร่วมต่อสู่กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมัชชาดังกล่าว เคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องที่ทำกินให้กับเกษตรกรในภาคอีสาน คัดค้านการทำโรงโม่หินในจังหวัดเลย
ในครั้งนั้น “ครูประเวียน บุญหนัก” แกนนำในการเคลื่อนไหวคนสำคัญต่อสู้มาด้วยกัน ต้องสังเวยชีวิตให้กับอิทธิพลมืด รวมทั้งการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงโม่หินในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีการระเบิดภูเขาเป็นลูกๆ “อวยชัย” ก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำคนหนึ่ง แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
ทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว "อวยชัย วะทา" ถูกถามว่า "เป็นครูทำไม ไม่สอนหนังสือ ออกไปเคลื่อนไหวทำไม"
แต่สำหรับ อวยชัย แล้ว เขาเคยเปิดใจว่า "ไม่เคยละทิ้งหน้าที่ครู และรักการสอนหนังสือ แต่การเป็นครูแค่สอนอยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่เราต้องทำให้ลูกศิษย์เห็นด้วยว่าเราไม่ยอมแพ้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราต้องกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อให้ได้ความเป็นธรรม ต้องสอนด้วยการกระทำ ไม่ใช่ดีแต่พูด และต้องกล้าที่จะเอาตัวเองเป็นเครื่องสังเวยความถูกต้องและดีงาม”
ปี2549 มวลชนครูเรือนแสนยึดพื้นที่รายรอบกระทรวงศึกษาธิการ เลาะเลียบยาวไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)กระทรวงมหาดไทย ที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่าจะต้องถ่ายโอน แม้ว่าองค์กรครูจะยื่นคำขาดไปแล้วว่าไม่ต้องการให้มีการถ่ายโอนการศึกษาเกิดขึ้น
กระแสต่อต้านการถ่ายโอนการศึกษา มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค ที่สำคัญเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 เกิดการชุมนุมของครูทั่วประเทศที่สวนสาธารณะศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด มีครูจากทั่วประเทศนับแสนคน จากกลุ่มองค์กรครู 4 ภาค เครือข่ายคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษา
"องค์กรครู" ในช่วงนั้น มีชิงชัย มงคลธรรม เป็นประธานที่ปรึกษาเครือข่ายคัดค้านการถ่ายโอนการศึกษา อวยชัย วะทา เป็นผู้อำนวยการศูนย์คัดค้านการถ่ายโอนการศึกษา และสมยงค์ แก้วสุพรรณ รองผอ.คัดค้านการถ่ายโอนการศึกษา
วันครูเดือด ตรงกับ วันครูแห่งชาติปี2549 ตัวแทนแกนนำครูนำโดย สมยงค์ แก้วสุพรรณ รองผอ.คัดค้านการถ่ายโอนการ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)ที่สภ.อ.เมืองร้อยเอ็ด โดยมี พ.ต.ท.พิศิษฐ์ คำชัยภูมิ พนักงานสอบสวนเวร สภ.อ.เมืองร้อยเอ็ด รับแจ้งความ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ส่วนจาตุรนต์ ในข้อหา เป็นพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยพระราชบัญญัติครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เกี่ยวกับเรื่อง เงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ท่าทีของรัฐบาลทักษิณ เมินเสียงครู ส่งแรงกดดันให้ “องค์กรครู” ตัดสินใจเข้าร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มแฟนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งจัดเวทีสัญจรอยู่ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ จนมารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และท้องสนามหลวงในที่สุด และ "องค์กรครู" เป็นหนึ่งในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวขับไล่ “ทักษิณ ชินวัตร”
การชุมนุมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการรัฐประหาร 2549 “อวยชัย วะทา” รวมพลแกนนำสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน(สกอ.),สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน(สกย.อ.),สหพันธ์สหกรณ์การเกษตรภาคอีสาน(สสอ.)และมูลนิธิเกษตรกรไทย ก่อตั้งองค์กรใหม่ “สภามนตรีความมั่นคงเกษตรกรอีสาน” แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรมากมายนัก
ปี2550 “อวยชัย วะทา” ถูกประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ชวนอวยชัยและพรรคพวกไปสังกัดพรรคชาติไทย ยุคที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา แต่เกิดปัญหาในที่สุด อวยชัย นำพรรคพวกโบกมือลาพรรคชาติไทย
เมื่อปี2554 “ดร.ปรีดา บุญเพลิง” แกนนำครู ได้ยื่นจดทะเบียน “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน” โดยตัวเขาเองเป็นหัวหน้าพรรค และปัจจุบันพรรคนี้ยังมีการเคลื่อนแจ้งข่าวให้สมาชิกพรรคยืนยันสิทธิ์ ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
นับจากนั้น บทบาทของแกนนำ “องค์กรครู” เริ่มอ่อนแอลง เมื่อ “อวยชัย” ปลีกตัวจากยุทธจักรการเคลื่อนไหว ไปเรียนหนังสือจนจบระดับปริญญาเอกมีคำนำหน้าว่า “ดร.อวยชัย วะทา” และได้เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม)จวบจนเกษียณอายุราชการเมื่อกันยายน 2560
พื้นเพของ “อวยชัย วะทา” เป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด พ่อและแม่มีอาชีพเกษตรกร หลังเรียนจบวิทยาลัยครูมหาสารคาม ก็สอบบรรจุเข้ารับราชการครู อวยชัยได้ย้ายไปทำหน้าที่พ่อพิมพ์ของชาติอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม นอกจากนั้นเขายังเขียนบทความ บทกวีลงตีพิมพ์ในสื่อต่างๆ อีกด้วย
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่รวมถึงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จากเดิมการขับเคลื่อนภารกิจหน่วยงานในศธ.จะมี “ผู้แทนครู” เข้าไปมีบทบาทสำคัญด้วย แต่สิ่งเหล่านี้หายไป ทำให้ครูถูกกีดกันออกจากศธ.
ส่วน “องค์กรครู” ไม่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้หรือปกป้องครู มีเพียงการเรียกร้องหรือเคลื่นไหว เพื่อพรรคพวกหรือกลุ่มของตัวเอง เมื่อได้รับการตอบสนองสมประโยชน์ก็ยุติการเคลื่อนไหว ไม่มีใครพูดถึงครู หรือทำเพื่อครูจริงๆอีกเลย
ชื่อของ “ดร.อวยชัย วะทา” ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู ถูกสปอร์ตไลท์ฉายแสงอีกครั้งช่วงเดือนกรกฏาคม 2561 เมื่อเกิดกรณี “ปฏิญญามหาสารคาม” ของคณะครูกลุ่มหนึ่งที่ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อย่างเร่งด่วน แต่กลับถูกมองว่าเป็นการประกาศชักดาบธนาคารออมสิน ท่ามกลางกระแสตั้งพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของครูและเกษตรกร แต่ไม่เกิดขึ้นจริง
ปี2564 “องค์กรครู” ไม่ได้หายไปไหนแต่ถูกแปรสภาพเป็นเครือข่าย ชมรม สหพันธ์ สมาคม ฯลฯ มีหลายองค์กร แต่ไร้ทิศทาง ต่างคนต่างทำ ไม่มีจุดแข็งหรือจุดร่วมกันชัดเจน
ท่ามกลางแสงเทียนริบหรี่ “ครู” ขาดผู้นำคนใหม่ กลับปรากฏชื่อของ “ไกรทอง กล้าแข็ง” ครูกทม. ในฐานะประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ออกมาเรียกร้องว่าครูยุค 2564 ไม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ จะนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะทั้งที่ครูไม่พร้อม ตามด้วยขอให้เลื่อนเปิดเทอมในภาวะโควิด-19 กำลังระบาดหนักฯลฯ
“ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา” ดาวเด่น “องค์กรครู” กำลังเปล่งแสงอีกดวง ภายใต้การนำของ “ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ” เมื่อแรกก่อตั้งมีแนวทางต่อสู้เพื่อช่วยเหลือผู้บริหารสถานศึกษา และครู 65 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีทุจริตสนามฟุตซอลปี 2555
และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 “ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ” ได้ขอจดทะเบียน “สมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา” ต่อนายอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และเขาเป็น "นายกสมาคมฯ" คนแรก
นับจากนี้ คงต้องลุ้น “องค์กรครู” ยุคดิจิทัลที่มีช่องทางการสื่อสารมากมาย จะกลับมายิ่งใหญ่จนสามารถรวมพลัง ผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศและเป็นที่พึ่งของครูได้อีกหรือไม่
กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง