ข่าว

“หมอภูมินทร์” ทิ้ง พปชร. เตรียมกลับซบเพื่อไทย

“หมอภูมินทร์” ทิ้ง พปชร. เตรียมกลับซบเพื่อไทย

17 พ.ย. 2564

"นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ"อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ศรีสะเกษ ยื่นหนังสือต่อ กกต. ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จ่อซบพรรคเพื่อไทย

"นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ"อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ศรีสะเกษยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เมื่อวันที่16 พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมโพสต์ข้อความว่า

 

วันนี้ วันดี เวลา 13.00 น. เดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นแล้วก็เบาตัวลองทายดูดิ ว่าไปต่อที่ไหน

 

มีรายงานข่าวว่า "นพ.ภูมินทร์" เตรียมกลับไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเร็ว ๆ นี้ ร่วมกับ 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ นายอมรเทพ สมหมาย ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา โดยยื่นหนังสือลาออกที่ กกต.แล้ว เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา และนางมาลินี อินฉัตร อดีตสมาชิกพรรคเพื่อชาติ โดยทั้งสองคนเตรียมกลับพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน 

 


 

 

สำหรับ "นายแพทย์ ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ" ปัจจุบันอายุ 58 ปี อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รวม 3 สมัย

 

เป็นคนตำบลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต (ศิริราช) มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีการศึกษา 2529 (ร่วมรุ่นกับ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์)


"นายแพทย์ภูมินทร์" เข้าสู่การเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้งเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 จึงย้ายมาลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย

 

"นายแพทย์ภูมินทร์"ได้รับแต่งตั้งเป็นประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2538 และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึงเป็นเป็นการทำงานครบ 1 ปี ของนายแพทย์ภูมินทร์

 

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ เขตเลือกตั้งที่ 3 (อำเภอกันทรลักษ์ ยกเว้นตำบลภูเงิน) ในสังกัดพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ จากพรรคภูมิใจไทย เพียง 500 คะแนน