ข่าว

ปม "สาวแบงก์" ลาออก ธปท.เร่งสอบ ธนาคารขายประกันเน้นยอด ชี้ ยอดขายไม่ใช่ KPI

ปม "สาวแบงก์" ลาออก ธปท.เร่งสอบ ธนาคารขายประกันเน้นยอด ชี้ ยอดขายไม่ใช่ KPI

18 พ.ย. 2564

ธปท. แจง "สาวแบงก์" ลาออก ย้ำ! ยอดขายไม่ใช่ตัวชี้วัด KPI เตรียมตรวจสอบ ธนาคารพาณิชย์ หากขายประกันภัยเน้นยอด โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า

จากกรณี ผู้ใช้ Facebook ชื่อ Pan Chalalai พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดีย โดยมีข้อความเกี่ยวกับการ "ลาออก" เนื่องจากการถูกกดดันในระบบการทำงาน จากการรับเป้า "ขายประกัน" ที่มียอดสูงสวนกระแสเศรษฐกิจ จนทำให้พนักงานต้องควักกระเป๋าซื้อประกันกันเอง เพื่อให้ได้ยอดตามเป้าที่ตั้งไว้นั้น
 

 

วันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมตรวจสอบ ธนาคารพาณิชย์ ที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยไม่ถูกต้อง พร้อมเน้นย้ำว่า ตัวยอดขาย หรือ เป้าขายประกัน ไม่ใช่ตัวกำหนดชี้วัดผลงาน (KPI) ที่จะทำให้เกิดความกดดันพนักงาน จนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า 

 

ปม \"สาวแบงก์\" ลาออก ธปท.เร่งสอบ ธนาคารขายประกันเน้นยอด ชี้ ยอดขายไม่ใช่ KPI

 

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่มีข่าวพนักงานสาขาธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ถูกกดดันให้ขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย นั้น ธปท. ขอย้ำว่า ธปท. ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) ทุกแห่ง ในการยกระดับธรรมาภิบาลของการเสนอขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
 

 

ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) และกำกับดูแลเข้มข้นตั้งแต่ปี 2561 โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ที่ผู้ให้บริการต้องไม่กำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ที่ให้น้ำหนักกับเป้าการขายผลิตภัณฑ์หรือกดดันพนักงาน จนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า รวมทั้งต้องนำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับขายมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาค่าตอบแทนด้วย นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ด้านกระบวนการขาย ยังกำหนดเรื่องการให้ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่บิดเบือน และไม่รบกวนลูกค้า รวมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการขาย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการหลอก บังคับ เอาเปรียบลูกค้า และไม่บังคับขายผลิตภัณฑ์พ่วงเป็นเงื่อนไขในการใช้ผลิตภัณฑ์หลัก


ธปท. ได้ติดตามและประเมินการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเข้มงวด และเปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้เน้นตรวจสอบและประเมินการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย และได้ลงโทษอย่างจริงจัง โดยได้เปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยจำนวน 2 แห่ง ในปี 2561 นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ (cross selling) แบบองค์รวมและสอดคล้องกัน ส่งผลให้ผู้ให้บริการตระหนักและควบคุมการเสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด ทำให้เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการบังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562 - 2564 (9 เดือนแรก)
 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่า มีผู้ให้บริการบางแห่งเริ่มกลับมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุก หรือขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยพ่วงกับการให้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับผู้ให้บริการในทันที และเน้นย้ำให้ควบคุมดูแลคุณภาพการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะการเร่งทำเป้าการขายในช่วงระยะเวลาใกล้ปิดรอบการประเมินผลงาน ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง และพร้อมดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลที่มีความเข้มข้นขึ้นต่อไป