รัฐบาลลุยพัฒนาแหล่งน้ำปี 65-67 เน้นเพิ่มน้ำต้นทุนและป้องกันน้ำท่วม
“บิ๊กป้อม” เร่งขับเคลื่อนพัฒนาแหล่งน้ำปี 65-67 เน้นเพิ่มน้ำต้นทุนและป้องกันน้ำท่วม เตรียมเสนอ กนช. ต้นเดือนธันวาคมนี้
วันนี้ (18 พ.ย. 64) เวลา 10.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 5/2564 (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงาน กปร. กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการที่เสนอที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าและพิจารณาในวันนี้ ล้วนเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนแผนงานโครงการ หากพบปัญหาอุปสรรคขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนรับทราบโครงการอย่างต่อเนื่องด้วย โดยได้สั่งการให้ สทนช. นำเป้าหมายโครงการสำคัญเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการใช้รายการโครงการสำคัญดังกล่าว เป็นกรอบในการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อเข้าสู่กระบวนการขอรับงบประมาณตามเป้าหมาย รวมทั้งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และ สทนช. ใช้เป็นกรอบในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ ตามลำดับความสำคัญ เพื่อตอบสนองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน อย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการปรับปรุงเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ จากเดิมขับเคลื่อนในปี 64-66 เป็นเป้าหมายการขับเคลื่อนในปี 65-67 โดยปรับนิยามความหมายของโครงการสำคัญให้มีความชัดเจนถึงผลสัมฤทธิ์ในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รองรับโครงการสำคัญในอนาคต และเกิดประสิทธิภาพในด้านงบประมาณ ทั้งเชิงพื้นที่ (Area Based) นโยบาย (Agenda) และโครงการขนาดใหญ่ (Function) ทั้งนี้ จากการปรับปรุงเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการสำคัญเบื้องต้น ในปี 65-67 จำนวนทั้งสิ้น 69 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 7,505 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 5.785 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 5.638 ล้านไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 2.628 ล้านครัวเรือน
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่าที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ ส.ป.ก. (จ.กระบี่) เพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรม 3,321 ไร่ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นโมเดลการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
ขณะที่อีก 3 โครงการ ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ก่อนนำเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุม กนช. ต้องได้รับความเห็นชอบการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว รวมถึงกรมชลประทานต้องดำเนินการชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับทราบการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำ น้ำกิ จ.น่าน ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี66-71) กักเก็บน้ำได้ 57.66 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (ปี 65-71) สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานรวมทั้งสิ้น 87,700 ไร่ ช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำคลองวังโตนด และเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการอุปโภคบริโภค รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 70 ล้าน ลบ.ม./ปี และ โครงการผันน้ำประแสร์–หนองค้อ–บางพระ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 66-69) เมื่อแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ปีละประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.ชลบุรี รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวที่ประชุมมอบให้กรมชลประทานเสนอโครงการเพื่อขอความเห็นจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ก่อนนำเสนอ กนช. และพิจารณาแนวทางการเพิ่มผลประโยชน์โครงการ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย