ข่าว

เฉลิมชัย โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่ เกษตรกรรมยั่งยืน ปี64 กว่า1.7ล้านไร่

เฉลิมชัย โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่ เกษตรกรรมยั่งยืน ปี64 กว่า1.7ล้านไร่

18 พ.ย. 2564

เฉลิมชัย โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนปี64 กว่า1.7ล้านไร่ เร่งเครื่องวางหมุดหมาย ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ทุกตำบล ดึง พอช. ลุยชุมชนสีเขียวพร้อม ผนึก ศธ. ปั้นกรีนสกูล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้(18พ.ย.)ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ ZOOM

 

โดยมีนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย

 

ตัวแทนหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เครือข่ายของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ตัวแทนภาคเกษตรกร ร่วมในการประชุม

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคีภาคส่วน ทำให้การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากรายงานการดำเนินงานของหลายหน่วยงานสามารถขยายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประจำปีงบประมาณ2564ได้กว่า 1,766,269.15 ไร่ ทั้งในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล (Tambom Sustainable Agriculture Development Project: TAP) ซึ่งมีเป้าหมาย 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ

 

โดยจะเน้นส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในทุกตำบล และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนกินได้ อยู่ได้ และอยู่ดี ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน” ใน 21 แนวทาง

 

ได้แก่ (1) 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ (2) 1 ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรตำบล (3) 1 ตำบล 1 แปลงเกษตรอินทรีย์ (4) 1 ตำบล 1 product champion (5) 1 ตำบล 1 วนเกษตร

 

(6) 1 ตำบล 1 กลุ่ม Young smart (7) 1 ตำบล 1 เกษตรธรรมชาติ (8) 1 ตำบล 1 แปลงสมุนไพร (9) 1 ตำบล 1 เกษตรผสมผสาน (10) 1 ตำบล 1 กลุ่มปศุสัตว์ (11) 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 

 

(12) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง (13) 1 ตำบล 1 องค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร (14) 1 ตำบล 1 ท่องเที่ยวเกษตร (15) 1 ตำบล 1 โครงการชลประทานชุมชน (16) 1 ตำบล 1 เครือข่าย ศพก.

 

(17) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) (18) 1 ตำบล 1 วิสาหกิจชุมชน (19) 1 ตำบล 1 กลุ่มเครื่องจักรกลเกษตร (20) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ (21) 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน 

 

ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการขับเคลื่อนต่อไป

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนด้านเกษตรกรรมยั่งยืนในโลกยุคใหม่หลัง COVID-19 เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรไทย ตาม 3. ยุทธศาสตร์”3’s”(Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน

 

ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) และโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ซึ่งขยายการดำเนินงานไปในระดับชุมชน เมือง จังหวัด และกลุ่มจังหวัด(เขต)ทั่วประเทศพร้อมเพิ่มการขับเคลื่อนในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมภายใต้คณะทำงานอุตสาหกรรมสีเขียว(Green Industry)

 

ในส่วนของโครงการในพื้นที่วัด (Green Temple)ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด การปลูกเพื่อเป็นอาหาร ปลูกเป็นยา ปลูกเป็นเงิน ปลูกเป็นสิ่งแวดล้อม และจะเชื่อมโยงกับพื้นที่โรงเรียน พื้นที่บ้านชุมชนและท้องถิ่น (โมเดล บ.ว.ร.)

 

เนื่องจากมีที่ดินของวัดที่เป็นโรงเรียนวัด และที่ดินของวัดที่มีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบ โดยจะใช้ “วัดทรัพย์สโมสรนิกรเกษม” ในเขตหนองจอก และอีกหลายวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นพื้นที่นำร่องในชุดแรกๆ และกำลังอยู่ในขั้นตอนประสานไปยังมัสยิตถ์ ฮินดู ศาสนาซิกข์ และโบสถ์ของศาสนาคริสต์ เพื่อที่จะดำเนินการและขยายผลต่อไป

 

สำหรับการดำเนินการโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียน และวิทยาลัย (Green College ,Green School) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีแผนงานโครงการน้องเพาะพี่ปลูก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนและวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ภายใต้แผน 4 ระยะ

 

โดยภายในเดือนกันยายน 2565 ที่จะมีการจัด Expo แสดงผลการดำเนินงาน จะขอความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เช่น กรมป่าไม้, กองทัพภาคที่ ๑-๔, หน่วยงานทางการศึกษา, มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, องค์กรก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดการขยายผลต่อเนื่อง

 

ทางด้านคณะทำงานโครงการระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community) ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อขับเคลื่อนองคาพยพร่วมกันทั่วประเทศ

 

โดยคณะทำงานได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 1 จังหวัด จะมี 1 โครงการต้นแบบ และความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการประชาสัมพันธ์แนวคิดของคณะกรรมการชุดนี้ขยายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการโครงการแล้วในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่นได้เริ่มต้นโครงการปลูกผักสวนครัวบริเวณชุมชนริมทางรถไฟ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในพื้นที่ เป็นต้น

 

สำหรับในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo) ทางสมาคมอาคารชุดไทยซึ่งทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้าน Property Developer จำนวน 12 ท่าน ที่โครงการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้กำหนดให้รณรงค์และเชิญชวนประชาชนและผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมปลูกพืชในพื้นที่ส่วนบุคคล ตลอดจน Developer เจ้าของโครงการ และนิติบุคคลอาคารชุด ให้ความร่วมมือในการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมในพื้นที่ส่วนกลางของอาคารชุด

 

โดยมีโครงการ The Forestias ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ และมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50% เป็นโครงการต้นแบบให้แก่อาคารชุดในเครือข่าย

 

ด้านการขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่การเคหะแห่งประเทศไทย ได้มีการมอบต้นฟ้าทะลายโจรแก่ชุมชนของของการเคหะฯ กว่า 21 ชุมชน ทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อการเพิ่มพืนที่สีเขียว และเป็นแหล่งยารักษาโรคต่อสู้กับ COVID-19