"เกษตรฯ" จับมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้
"กระทรวงเกษตรฯ" จับมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกันพัฒนางานวิชาการ ขยายผลงานวิจัย แบ่งปันองค์ความรู้ ทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณ เพื่อพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
วันที่ 18 พ.ย.64 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างหน่วยงานในสังกัด "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โดยในวันนี้ มีการลงนามจำนวน 2 ฉบับ คือ 1) บันทึกความเข้าใจ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร ระหว่างอธิการบดี และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ 2) บันทึกความเข้าใจ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านวิจัย การส่งเสริมการประมง ระหว่างอธิการบดี และอธิบดีกรมประมง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ได้มีการทำ MOU ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ "ภาคเกษตรกรรม" ของไทย ต้องมีการยกระดับด้าน"การเกษตร" มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เต็มที่
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่จะสามารถนำมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทาง "การเกษตร" ได้ สำหรับในส่วนของ"กระทรวงเกษตรฯ" มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) 77 แห่งทั่งประเทศ ที่ร่วมกับสถาบันการศึกษา จนเกิดศูนย์ดังกล่าวขึ้นมาได้ อีกทั้งยังมีการทำ MOU ร่วมกับอีกหลายสถาบัน เพื่อยกระดับเกษตรกรให้ก้าวข้ามผ่านจากที่เคยเป็นให้ได้
อย่างไรก็ตามหน่วยงานในสังกัดของ "กระทรวงเกษตรฯ" นอกเหนือจากกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมง ที่ร่วมลงนามในวันนี้ ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทั้งหมด ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องมีการทำงานให้สอดคล้องกัน ต้องมีการประสานความร่วมมือในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพร่วมกัน
สำหรับการลงนามในวันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคการเกษตรอีกครั้งหนึ่งซึ่งภาคเกษตรเรามีความสำคัญ หากภาคการเกษตรดี เศรษฐกิจในประเทศก็จะเข้มแข็งไปด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในช่วงโควิด-19 ที่ภาคการเกษตรนั้นได้รับผลกระทบน้อยสุด และยังเป็นภาคที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย ประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนาทั้งในเรื่องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการส่งเสริม พัฒนา ต่อยอด และเพิ่มมูลค่าต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ในส่วนของบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทางวิชาการร่วมกันด้านการวิจัยและการส่งเสริม "การเกษตร" โดยการขยายผลโครงการวิจัยทางด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร เพื่อทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันในหัวข้อเรื่องที่จะใช้แก้ปัญหาทางการเกษตร และเพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย
โดยแบ่งปันทรัพยากรทางด้านการวิจัย บุคลากร นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์และข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรซึ่งกันและกัน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ
มีขอบเขตความร่วมมือในการให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันในการพัฒนาทางวิชาการ "ส่งเสริมการเกษตร" วิชาการเกษตร และงานวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
รวมทั้งร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนาด้านการวิจัยและวิชาการทั้งสองหน่วยงาน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านวิจัย การส่งเสริมการประมง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทางวิชาการร่วมกันด้านการวิจัย การส่งเสริมและพัฒนาการประมง และขยายผลโครงการวิจัยทางด้านการประมงที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การประมง และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันในหัวข้อเรื่องที่จะใช้แก้ปัญหาทางการประมง และพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย
โดยแบ่งปันทรัพยากรทางด้านการวิจัย บุคลากร นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลด้านการพัฒนาการประมงซึ่งกันและกัน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ มีขอบเขตความร่วมมือที่จะร่วมกันดำเนินงานพัฒนาทางวิชาการด้านการวิจัย การส่งเสริมและพัฒนาด้านการประมง และงานวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และชาวประมง นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าประมง
ร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนาด้านการวิจัยและวิชาการทั้งสองหน่วยงาน และร่วมกันสนับสนุนทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงสามารถแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และความรู้ทางวิชาการในการแก้ปัญหาการประมง