"สุเทพ" เผยโหวตคว่ำร่างรธน.ฉบับไอติมจบแค่ยกแรกชี้แก้รธน.ต้องถามปชช.ก่อน
“สุเทพ” บอก สภาฯไม่รับ ร่างแก้ไข รธน.ฉบับปชช. จบแค่ยกแรก เป็นเรื่องที่ต้องตามต่อ ชี้ รธน.แก้ไขได้เสมอ แต่ต้องถามประชาชนทั้งประเทศก่อนแก้เรื่องอะไร ด้วยเหตุผลอะไร
ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล นายพริษฎ์ วัชรสินธุ ริเริ่มเข้าชื่อประชาชนเสนอ ก็ยังมีมุมมองแวดวงการเมือง ต่อการเสนอแก้ไขรธน.ครั้งนี้ ล่าสุด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชวาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.)ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP6 ผ่านเพจส่วนตน เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา
นายสุเทพ กล่าวว่า เราเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่สำคัญ ของประเทศอีกครั้งคือช่วงเวลาที่มีการถกเถียงพูดจา เรื่องรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ในการปกครองประเทศ คราวนี้พิเศษ ตรงที่ว่า เขาได้อาศัยช่องทาง ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่บัญญัติไว้ ที่เปิดโอกาสให้ปนชนทั่วไป ที่มีจำนวนเกินกว่า 5 หมื่นคน สามารถเข้าชื่อกัน เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วเขามาช่องนี้ ได้มีการรวบรวมรายชื่อประชาชน แสนสองหมื่นกว่าคน ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯและเสนอต่อรัฐสภา เริ่มอภิปรายกันตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2564แล้วลงมติในวันที่ 17 พ.ย. ที่จริงจบไปแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญตกไปแล้ว แต่ที่อยากชวนประชาชน มาพูดคุยเผื่อว่าพี่น้องบางคน อาจจะไม่ได้ติดตามการอภิปรายในรัฐสภาในวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
นายสุเทพ เริ่มต้นอธิบาย ว่า เขาเป็นคนที่ติดตามให้ความสนใจกับความคิดเห็นของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ไปศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เขาเสนอสู่สภาฯและติดตามฟังการอภิปรายทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน
"ประเด็นสำคัญๆที่อยากบอกประชาชนที่ไม่ได้ติดตาม คนที่ต้องการแก้ไขเขาต้องการที่จะแก้ไขเรื่องใหญ่ๆสำคัญที่สุดที่เขาตั้งเป้าไว้คือการเปลี่ยนรูปแบบของรัฐสภาจากที่มีสภาผู้แทน และวุฒิสภา ให้เหลือเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร"
ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ขอบอกประชาชนในเบื้องต้นก่อนว่า วุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญ 2560นั้น มีที่มาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษว่า จะต้องเป็นผู้มีอาชีพ มีประสบการณ์ในสาขาต่างๆ เลือกกันมาเองให้ได้ในที่สุด 200 คนแล้วมาเป็น วุฒิสมาชิก ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ทำหน้าที่พิเศษ ที่เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาเท่านั้น เช่นเรื่องของการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญเช่นการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน การแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิฯ ฯลฯ และรวมถึงการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการตุลาการแผ่นดิน
อันนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้จะให้ไปอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลไม่ได้ จะให้ไปอยู่ภายใต้สภาผู้แทนราษฎร ก็จะไม่สามารถตรวจสอบนักการเมืองได้ บังเอิญว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ประกาศใช้ มีบทพิเศษที่เรียกว่า บทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดไว้ว่าในช่วง 5 ปีแรก วุฒิฯ มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่นี้เป็นแค่บทเฉพาะกาล และในช่วง 5 ปีนี้เท่านั้น พ้น 5 ปีแล้วคนที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา จะต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้ง ของประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆเท่านั้น เพราะฉะนั้นแก้หรือไม่แก้ ผลก็จะเป็นแบบนี้
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า แต่ฝ่ายที่เขาต้องการให้รีบแก้ เพราะเขารู้สึกรังเกียจว่า วุฒิฯชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของคสช.อยากจะบอกถ้าเราเลือกที่จะให้ระบบรัฐสภาแบบสภาเดียวคือเฉพาะสภาผู้แทนฯ ก็จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนมีอำนาจมาก ในร่างที่เขาเสนอมาเขาเพิ่มอำนาจให้สมาชิกสภาผู้แทนมาเหลือเกิน เช่นเรื่องที่จะแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย คนอย่างผมหรืออย่างพี่น้องจำนวนมากคงสบายใจเท่าไรกับความคิดนี้ เพราะเป็นห่วงว่า ถ้าคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ คณะกรรมการป.ป.ช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ และอื่นๆที่มาจากการแต่งตั้งของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคงจะไม่มีความเป็นอิสระที่จะไปตรวจสอบ รัฐบาล พรรคการเมืองหรือนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆได้ อันนี้เสียหายมาก
ตรงนี้เป็นประเด็นที่เราควรจะคิดหรือประเด็นที่จะศึกษา ที่เขาอภิปรายกันมาก็เถียงกันในเรื่องเหล่านี้จริงๆแล้วตนและพี่น้องประชาชนที่ได้ร่วมกันไปลงประชามติให้ความเห็นให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มีจำนวน 16 ล้านคนเศษนั้น เราก็ได้ติดตามศึกษาเรื่องนี้กันมาว่าเราจะจักระบบระเบียบวิธีการปกครองบริหารประเทศเราที่จะบรรจุในรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง แต่ว่าเหตุการณ์ผ่านมาปีสองปีก็คงลืมกันไปบ้างพอเขาเอามาพูดกันใหม่ เราก็เกิดความรู้สึกสับสนขึ้นมาบ้างตนถึงได้มาเชิญชวนพี่นิองประชาชนว่าเรามาติดตามเรื่องนี้กันมาสนใจกันต่อเพื่อว่า เวลาเขาวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ต้องผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง คงมีผู้เสนอแนวความคิดแบบนี้กันมาอีก ผมคิดว่าใครมีแนวความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไรมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้ เราเองที่เป็นประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะมีช่องทางในการที่จะศึกษาทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระ ในเรื่องที่เขาแสดงความคิดเห็นกัน และทำไมเขาถึงไม่ชอบไม่อยากได้ อย่างเช่น เขาไม่ชอบไม่อยากได้วุฒิสมาชิก ไม่อยากให้มี แต่ถ้ารังเกียจและบอกว่าวุฒิสมาชิก มาจากการแต่งตั้งของ คสช.อดใจรออีกนิด เมื่อหมดเวลาตามบทเฉพาะกาล วุฒิสภาชุดใหม่ ก็ต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้งของบรรดาผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ
"ผมชอบเพราะว่าเราจะได้มีคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือส.ส.ที่มาจากประชาชนทั่วไปเลือกมา อีกกลุ่มคือ ส.ว. ซึ่งไม่มีสภาพเป็นนักการเมืองอาชีพ รัฐธรรมนูญ.บอกว่าเป็นได้สมัยเดียวเป็นอีกไม่ได้ แถมมีกำแพงกันไม่ให้มีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองไม่ต้องการให้มีสภาผัวเมีย แบบในอดีต รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่าคนที่จะมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิฯจะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหนไม่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองไหน และถ้าเคยเป็นรัฐมนตรีมา ต้องพ้นตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปี คือเขาไม่ต้องการให้มีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองหรือนักการเมือง เพราะต้องการความเป็นอิสระ ของวุฒิสมาชิก ซึ่งก็ว่าดี และถ้าเรามีวุฒิสภาที่มีความเป็นอิสระและไม่ยึดโยงเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และ นักการเมือง เราก็ไว้ใจได้ ว่าการแต่งตั้งคนที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ. มาเป็น ป.ป.ช. หรือ คนในองค์กรอิสระอื่นๆจะมีความคิดเป็นอิสระ
แต่ถ้าปล่อยให้แต่สภาผู้แทนฯ และปล่อยให้สภาผู้แทนฯเป็นคนแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้หมด นอนไม่หลับครับกังวลใจเพราะเคยเกิดเหตุมาแล้วในอดีตองค์กรอิสระ ก็ดี หรือวุฒิสมาชิกก็ดีถูกฝ่ายการเมืองครอบงำหมด บ้านเมืองถึงเกิดเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬาร เราเคยมีประสบการณ์ว่า คนเป็นนายกรัฐมนตรี สามารถอยู่เหนือการตรวจสอบขององค์กรอิสระทั้งหลายได้ เราเคยมีนักการเมือง ออกมาพูดจาต่อสาธารณชนว่า ไม่ต้องกลัวปัญหาการเลือกตั้งเพราะกกต.เป็นคนของเราสั่งได้อย่างนี้เป็นต้น การเลือกตั้งก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม เราก็ไม่ได้คนดีๆ ไปเป็นส.ส.เพราะฉะนั้นที่เขามีความเห็นตามร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมาแล้วไม่ผ่านสภาฯ ตนสังเกตดูว่าคนที่คัดค้านก็มีความเห็นแบบเดียวกับตน และเชื่อว่าพี่น้องประชาชนหลายคนน่าจะคิดอย่างเดียวกัน
นายสุเทพ กล่าวต่ออีกว่ามีอีกเรื่องที่เขาอยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศประเทศไทยที่ผู้เสนอร่างแก้ไขเขาไม่ต้องการให้มีแล้วเรื่องนี้ แต่ว่าพวกเราที่เป็นคนลงคะแนนเห็นชอบในวันลงประชามติ เรากลับเห็นตรงกันข้าม เพราะเห็นว่าการปกครองบริหารบ้านเมืองควรจะได้มีการทำงานต่อเนื่องกัน จนบรรลุความสำเร็จงานหลายอย่างในการพัฒนาประเทศ ในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ทำ3-4 ปี ไม่เสร็จ ทำรัฐบาลเดียว ไม่เสร็จต้องทำต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นอดีตคือเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลครั้งหนึ่ง ก็เปลี่ยนนโยบายไปครั้งหนึ่ง งานก็ไม่ต่อเนื่อง
"ผมมีประสบการณ์จริงในชีวิตตอนที่เป็นรองนายกฯสมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับผู้นำประเทศจีน ตนเป็นคนเสนอความคิดเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง จากจีนมาลาวมาไทยไปมาเลเซียอินโดนีเซีย รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องกันเจรจาในรายละเอียดเตรียมที่จะทำ MOU ลงมือก่อสร้างโชคร้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ปี 2554 พอคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายกฯ ก็ไม่เอาแล้วเรื่องรถไฟความเร็วสูง เปลี่ยนมาจะทำรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพไปเชียงใหม่เพื่อขนผักมาขายที่กรุงเทพฯ อย่างนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นความไม่ต่อเนื่องในการบริหารประเทศ ในระยะยาว" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า นี่โชคดีมี คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หันมาผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯไปเวียงจันทร์ ไปประเทศจีน ลองคิดดู ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลงมือก่อสร้างโครงการนี้เกือบจะสำเร็จ และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นคนอื่นแล้วบอกว่าไม่เอาแล้วเรื่องนี้ สิ่งที่ลงแรงไปจะเสียเปล่าแถมไม่ได้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยน่าเสียดาย
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกันมีโครงการหนึ่ง ที่สนใจคือ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เรามักจะเรียกว่า EEC ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้ผลักดัน ตนชอบใจ เพราะเป็นการสืบสานต่อยอด โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่รัฐบาลพล.อ.เปรม ได้ดำเนินการมา และรัฐบาลต่อมาก็ได้ดำเนินการลักษณะอย่างนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่จะต้องมีการปฏิบัติต่อเนื่องกันไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลจนกระทั่งงานสำเร็จ เพราะความเป็นห่วงว่าจะขาดการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง จึงได้บทบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ. ปี 2560 ว่า ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนา
“ ฝ่ายผู้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเขารังเกียจว่า แบบนี้เป็นการผูกขาดการสืบทอดอำนาจของคสช. ตนไม่ได้มองอย่างนั้นตองมองว่า คสช.จบไปแล้วตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปและได้รัฐบาลใหม่คือรัฐบาลปัจจุบันอย่างนี้ไม่สามารถจะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคสช. เพราะนี่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเราต้องดูว่ารัฐธรรมนูญของประเทศเราที่ใช้ในขณะนี้มีความกับความคิดของส่วนใหญ่ความคาดหวังของคนไทยส่วนใหญ่มีความเหมาะสมกับ วัฒนธรรมประเพณีทางกรปกครองมีความลงตัวพอดีกับสถานการณ์ของประเทศหรือไม่ตรงนั้นมีความสำคัญมากกว่า สำคัญกว่าว่าใครจะเป็นทำรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า ตนติดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ตั้งแต่เป็นร่างอยู่และมีส่วนรณรงค์ในช่วงก่อนมีการลงประชามติ เห็นว่าคณะกรรทมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทีมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่าง ได้ทำงานด้วยความละเอียดรอบคอบ แล้วได้นำเอาความคิดความเห็นเอาความจำเป็นจะต้องมีระบบมีวิธรกสนที่เป็นพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยมากลั่นกรองเป็นบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญ 2560 แม้ว่าท่านมีชัยและคณะกรรมการชุดนั้นได้รับการแต่งตั้งมาจากคสช. แต่ถ้าเราไปศึกษาเนื้อหาในรัฐธรรมนูญจะเห็นเลยว่า บรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านการเมือง การปกครอง รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างที่เรียกว่าเป็นพิเศษจริงๆ
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า อยากเรียกร้องว่า อย่าไปรังเกียจเลยว่ารัฐธรรมนูญ มีที่มาที่ไปอย่างใคร เป็นคนร่าง ใครเป็นคนแต่งตั้งคนร่าง ไปสนใจในเรื่องเนื้อหาดีกว่า
"เหมือนที่ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ก็เป็นพอ ตนคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีที่มาที่ไปอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญที่เนื้อหาสาระ และเนื้อหาสาระยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อคนไทยอยู่รึเปล่า วันข้างหน้าถ้าเราเห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ บทไหนมาตราไหนที่ล้าหลัง ไม่เป็นประโยชน์ เราเลิกก็ได้ หรือแก้ใหม่ก็ได้ " นายสุเทพ ให้ข้อคิด
"รัฐธรรมนูญแก้ได้เสมอ เพียงแต่ว่า ต้องถามใจคนไทยทั้งประเทศกันก่อนว่า ต้องการแก้ไขในเรื่องอะไร ประเด็นไหนมีเหตุผลในการยกเลิก หรือ แก้ไขอย่างไร " นายสุเทพ กล่าวย้ำ
"บังเอิญว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอมาโดยคณะประชาชนที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา คงมีประชาชนไม่มากนัก ที่ได้อ่าน ได้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ นอกจากนั้น ก็ฟังที่เขาพูดเขาวิจารณ์กัน อาจจะมีความสับสนอยู่บ้าง แต่ก็จบไปยกหนึ่งแล้ว ต่อไปนี้ ก็ต้องติดตามดูว่า ยังมีคนที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วเขามีเหตุมีผลมีการนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างไรถึงแม้จะเป็นเรื่องที่มีการพูดจากันมาหลายรอบหลายปีแล้ว"
"ผมก็ยังเรียกร้องกับพี่น้องประชาชนว่าอย่างไรก็ต้องคอยติดตามเรื่องเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเรื่องความคิดเห็นของคนฝ่ายต่างๆในเรื่องรัฐธรรมนูญ และเราในฐานะเจ้าของประเทศก็ต้องมีส่วนร่วมกับเขาด้วยเพราะนี่คือกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราประชาชนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันติดตามและจะได้ตอบสนองต่อข้อเสนอ ข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มได้อย่างถูกต้อง" นายสุเทพ กล่าวย้ำในตอนท้าย