ข่าว

โพลเด็ก-ประชาชนเกือบ70% ไม่ "ลอยกระทง2564" กลัวติดเชื้อโควิด

โพลเด็ก-ประชาชนเกือบ70% ไม่ "ลอยกระทง2564" กลัวติดเชื้อโควิด

19 พ.ย. 2564

โพลเด็ก-ประชาชน ทั่วประเทศ 50.41% สนใจร่วม “ลอยกระทง2564” มีเกือบ70% ไม่สนใจเพราะกลัวติดเชื้อโควิด เน้นทำบุญไหว้พระ ใช้กระทงวัสดุธรรมชาติ เผยเป็นประเพณีมีคุณค่าแสดงกตัญญูต่อ “น้ำ” ขอขมาพระแม่คงคา สืบสานประเพณีไทย

19 พฤศจิกายน 2564 ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง  ตามประเพณีไทยตรงกับ  วัน "ลอยกระทง2564" ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนในหัวข้อ ท่านคิดอย่างไรต่อ “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” พุทธศักราช ๒๕๖4

 

จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค ๗,๓๙๑ คน จำแนกเป็น เพศหญิง ๓,๙๓๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๒๕ และเพศชาย ๓,๔๕๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๖.๗๕ สรุปได้ความคิดเห็น ดังนี้ 

 

๑. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๐.๔๑ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในงานประเพณี วันลอยกระทง ร้อยละ ๓๔.๑๔ ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส และ ร้อยละ ๑๕.๔๕ ไม่สนใจเข้าร่วมงาน

 

โดยผู้ที่ไม่สนใจเข้าร่วมงาน ร้อยละ ๖๖.๙๐ เพราะกลัวติดเชื้อโควิด-๑๙ รองลงมา คือ ร้อยละ ๔๕.๗๑ ไม่อยากออกไปพบปะผู้คน ร้อยละ ๓๑.๔๔ ไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ร้อยละ ๒๓.๕๖ อยากพักผ่อนอยู่บ้าน ร้อยละ ๒๐.๓๒ ไม่อยากเพิ่มขยะให้กับแม่น้ำลำคลอง

 ๒. กิจกรรมในงานประเพณีลอยกระทงที่คนส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วม ๕ อันดับแรก คือ ทำบุญไหว้พระ ใช้กระทงที่ใช้วัสดุธรรมชาติ ชมการประดับประทีปโคมไฟในยามค่ำคืน แต่งชุดไทยไปลอยกระทง และชมการสาธิตทางวัฒนธรรมและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม 

 

๓.ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าคุณค่าและประโยชน์ของประเพณีลอยกระทง ๕ อันดับแรก คือ อันดับ ๑ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อ “น้ำ” ขอขมาพระแม่คงคา บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันดับ ๒ เพื่อส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีของไทยให้คงอยู่ อันดับ ๓ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันดับ ๔ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับคนรัก ครอบครัว อันดับ ๕ เพื่อการแสดงออกต่อพระพุทธศาสนา

 

๔. ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก คือ อันดับ ๑ กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง ดอกบัว อันดับ ๒ กระทงที่ทำจากขนมปัง อันดับ ๓ กระทงที่ทำจากพืชผัก

๕. หากมีโอกาสเข้าร่วมงานประเพณีลอยกระทง ประชาชนส่วนใหญ่อยากเข้าร่วมงานในจังหวัดของตนเองมากที่สุด เพราะใกล้บ้าน เดินทางสะดวก ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-๑๙ จากพื้นที่อื่น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว และหากไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่ อยากทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว/ญาติ/เพื่อน ลอยกระทงออนไลน์ และไปทำบุญตักบาตร 

 

๖. ประชาชนส่วนใหญ่ สนใจเข้าร่วมงานลอยกระทงในสถานที่ ๕ อันดับแรก คือ อันดับ ๑ จังหวัดเชียงใหม่ งานประเพณีเดือนยี่เป็ง อันดับ ๒ จังหวัดสุโขทัย งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ อันดับ ๓ กรุงเทพมหานคร งานเทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย “วันเพ็ญ เย็นใจ” River Festival Thailand 2021 อันดับ ๔ จังหวัดของตนเอง อันดับ ๕ จังหวัดตาก งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง

 

๗.บุคคลที่ประชาชนอยากไปลอยกระทงด้วยมากที่สุด ๓ อันดับแรก คือ อันดับ ๑ ครอบครัว (พ่อ แม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติพี่น้อง) อันดับ ๒ แฟน/คนรัก อันดับ ๓ เพื่อน/เพื่อนร่วมงาน ๘. วิธีการที่จะจูงใจให้ประชาชนร่วมงานลอยกระทง คือ คนในครอบครัวพาลูกหลานไปลอยกระทง หน่วยงานรัฐ เอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ลอยกระทง และการนำศิลปิน ดารา บุคคลที่มีชื่อเสียง มาร่วมรณรงค์/เชิญชวน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการจัดกิจกรรมลอยกระทงออนไลน์

 

วธ. ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมประเพณีลอยกระทงอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สืบสานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช ๒๕๖๔ “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานประเพณีไทย” ๑ ครอบครัว ๑ กระทง รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ปลอดโรค ปลอดภัย ทั่วประเทศ กิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ และวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ บัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ E-Card 

 

ผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 พฤศจิกายน 2564 ได้ที่ลิงค์ : https://ecard.m-culture.go.th และจัดทำหนังสือประเพณีลอยกระทง (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ฉบับการ์ตูน และหนังสืออิเลคทรอนิกส์ ติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม http://book.culture.go.th/ เพื่อเผยแพร่ความรู้ประเพณีวันลอยกระทง การแสดงความกตัญญู การเห็นคุณค่าของน้ำ และแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข