!["ชำนาญ"ลุยฟ้องกราวรูด "นายกฯ-อดีตประธานศาลฎีกา- อดีตเลขาศาลยุติธรรม" "ชำนาญ"ลุยฟ้องกราวรูด "นายกฯ-อดีตประธานศาลฎีกา- อดีตเลขาศาลยุติธรรม"](https://media.komchadluek.net/uploads/images/md/2021/11/FVIvf7EfqB6NvjgA8lH1.webp?x-image-process=style/lg-webp)
"ชำนาญ"ลุยฟ้องกราวรูด "นายกฯ-อดีตประธานศาลฎีกา- อดีตเลขาศาลยุติธรรม"
ชำนาญลุยฟ้องกราวรูด "นายกฯ/อดีตปธ.ศาลฎีกา/ อดีตเลขาศาลยธ." ขอเพิกถอน ประกาศสำนักนายกฯ ยื่นปปช.ตรวจสอบกต.เเละอนุกต.อีกทางด้วย
เมื่อวันที่ 19 พ.ย.64 นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องอาทิ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ , อดีตประธานศาลฎีกา, อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม , และสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง รวมทั้งยื่นคำร้องถึงสำนักงานปปช.เพื่อให้พิจารณาการร้องเรียนพฤติกรรมของกต.และอนุกต.เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมในกรณีของตัวเอง กรณีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ กรณีนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล กรณีนายวิชญ์ธรรมนาถ สุวรรณโกตา
นายชำนาญ ระบุว่า ในคำฟ้อง ได้ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ที่นำความกราบบังคมทูลให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอีกคำร้องหนึ่ง คือนายกรัฐมนตรีและจำเลยทั้งหมด ให้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนที่มีการส่งกลับคืนมาให้ ก.ต. ทบทวน โดยระบุว่าไม่สามารถทำได้ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ขัดต่อพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ. 2542 มาตรา 6 /1 มาตรา 7 และการกระทำเช่นนี้ มองว่าเป็นการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการ
“กรณีของนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล ประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ (กรณีใช้ไลน์ล็อบบี้หาเสียงเลือกตั้งกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ)ที่ตนได้เคยยื่นคำร้องถึงนายกรัฐมนตรีนั้นก็ไม่ได้มีการขอให้ทบทวนมติ ก.ต. แต่ขอให้นายกรัฐมนตรีขอข้อมูลเพื่อประกอบการถวายความเห็นหรือประกอบการนำความกราบบังคมทูล หรือกรณีของนางเมทินี ชโลธร อดีตประธานศาลฎีกา ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลฎีกาไปแล้ว ก็ต้องดูข้อเท็จจริง ว่า ได้ลาออกไปจากราชการ ในตำแหน่งข้าราชการศาลยุติธรรม ไปแล้วด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่ได้ลาออก เพียงแค่ไม่ประสงค์จะต่ออายุราชการ ก็ยังไม่พ้นจากการเป็นข้าราชการตุลาการ และหากจะลาออกจากข้าราชการตุลาการ ก็ต้องได้รับอนุญาต จาก ก.ต. ก่อน ไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถที่จะไปยื่นขอรับเงินบำนาญได้”
นายชำนาญ กล่าวว่า กรณีการทำงานของกต.และอนุกต.นั้น ตนเห็นว่า มีความผิดปกติหลายเรื่อง ในเรื่องนี้ตนได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการปปช.อีกทางหนึ่งด้วยเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ในกรณีของตน กรณีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ กรณีนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล กรณีนายวิชญ์ธรรมนาถ สุวรรณโกตา เพราะบางกรณีก็มีการตัดสินอย่างรวดเร็วโดยกต.และอนุกต. บางกรณีก็ล่าช้า แบบนี้ต้องให้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน
แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรณีของนางเมทินีนั้น กรมบัญชีกลางยังไม่ได้รับการแจ้งงดการจ่ายบำนาญจาก หน่วยงานต้นสังกัด ขณะนี้กรมบัญชีกลางยังคงจ่ายเงินบำนาญให้นางเมทินี ตามปกติ โดยก่อนหน้านี้ได้ไปดูคำสั่งศาลยุติธรรม ลงวันที่ 10 กันยายนปี 2564 ปรากฏว่า นางเมทินีชโลธร มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปี 2564 และไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสนั่นแสดงว่า มีคำสั่งของหน่วยงานตามปกติ เพราะข้าราชการตุลาการจะเกษียณอายุ 70 ปีและถึงแม้การเกษียณอายุราชการของข้าราชการตุลาการที่ 70 ปี แต่กรณีของนางเมทินี ได้ออกจากราชการก่อน ดังนั้น จึงมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญ ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางยังคงจ่ายเงินบำนาญให้นางเมทินีตามปกติ เพราะต้นสังกัดยังไม่ได้มีหนังสือ แจ้งมาเพื่อให้งดจ่ายบำนาญแต่อย่างใด