"พลายหนูซิง" ถูกยิง "สัตว์ไม่รู้โฉนด โหดไปไหม" นักรณรงค์จี้กรมฯ เร่งแก้ไข
นักรณรงค์เพื่อสัตว์ป่าเปิดแคมเปญ Change เรียกร้องผู้เกี่ยวข้องเอาจริงกับการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกหากินตามแนวรอยต่อชุมชน เข้าใจความเดือดร้อนชาวบ้าน แต่ขอถามกลับ ถึงขั้นกระหน่ำยิง "โหดไปไหม??"
จากกรณี พลายหนูซิง ช้างป่าอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิง เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 แต่จนบัดนี้ (20) พลายหนูซิง ก็ยังไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่พบตัวหนูซิง ที่คลาดจากการติดตามไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่ามีช้างป่าตัวอื่นในฝูงมาช่วยประคองกลับเข้าป่า
นางศิลจิรา อภัยทาน นักรณรงค์เพื่อสัตว์ป่าอิสระ อดีตฝ่ายหาทุนมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำโครงการรณรงค์หาบ้านลิงกอลิลา "บัวน้อย" ที่ต้องอยู่ในสวนสัตว์ของห้างสรรพสินค้าชื่อดังมาหลายสิบปี ได้ตั้งแคมเปญรณรงค์บนเวบไซต์ https://www.change.org/ อีกครั้ง ในหัวข้อ สัตว์ป่าไม่รู้จักคำว่าโฉนด โหดไปไหม ???
โดยนางศิลจิรา เปิดเผยกับคมชัดลึก ว่าการตั้งแคมเปญครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการให้คนทะเลาะกัน แต่อยากพูดแทนช้างเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะคนยังมีญาติ มีพี่น้อง มีเพื่อนช่วยร้องเรียน หรือเรียกร้องค่าชดเชยต่าง ๆ ได้ ขณะที่ช้างหรือสัตว์ป่านั้นไม่มีเลย ตนเองเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านที่พืชผลทางการเกษตรต้องได้รับความเสียหาย แต่การขับไล่ช้างมีหลายวิธี การใช้ความรุนแรงถึงขั้นกระหน่ำยิงด้วยปืนนั้นโหดร้ายเกินไปหรือไม่
นางศิลจิรา กล่าวต่อไปว่า การที่พลายหนูซิงถูกทำร้ายครั้งนี้ สังคมเห็นด้วยหรือไม่ว่าทำเกินไป คือต้องการให้ตาย ไม่ใช่ขับไล่ แล้วจะปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดต่อไปเรื่อย ๆ หรือไม่ โดยวานนี้ก็ยังมีกรณีช้างป่าถูกไฟช็อตตายคาที่ใน จ.ปราจีนบุรี อีกตัว ซึ่งผลกระทบจากปัญหาช้างออกนอกเขตอนุรักษ์ ไม่เพียงแค่ช้างตาย หรือจะปล่อยให้คนตายไปมากกว่านี้ ถึงเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้แล้วหรือยัง มีการรวบรวมแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวแล้วหรือไม่ ทำไมจึงปล่อยปละละเลยจนแทบจะถึงทางตันเช่นนี้
ที่ผ่านมามีการทำรั้ว ขุดร่องน้ำ ใช้งบประมาณไปเป็นร้อยล้าน ได้ผลมากน้อยแค่ไหน ถ้ามุ่งแก้ไขด้วยวัตถุก็ได้ผลเพียงระยะสั้น ส่วนตัวเล็งเห็นว่าช้างนั้นเป็นสัตว์ฉลาด สามารถฝึกได้ หากจัดหาคนที่เข้าใจพฤติกรรมช้าง เช่นกลุ่มคนเลี้ยงช้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุรินทร์ ที่ตอนนี้ก็อาจมีงานน้อยลง มาประจำการในพื้นที่รอยต่อที่มีปัญหา แล้วฝึกช้าง ผลักดันช้าง หรือจูงใจให้ช้างกลับเข้าป่าด้วยพฤติกรรมจากภายใน (Inner) สามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้สักตัวหนึ่ง ช้างนั้นสื่อสารกันได้ เขาจะบอกกันเองในฝูง ตนเองไม่อยากเห็นภาพคนนี้ด่าช้าง คนนั้นด่าคน
นางศิลจิรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาต้องดูภาพรวมอื่น ๆ ต้องช่วยคนด้วย เช่น หาอาชีพเสริม หรือปรับไปปลูกพืชอื่น ๆ ที่จะไม่ได้ถูกกัดกิน เพราะช้างและสัตว์ป่านั้นไม่รู้จักโฉนด เขาไม่รู้ว่าเดินเข้าพื้นที่ใคร เขาเดินตามสัญชาตญาณ เจอแหล่งอาหารเขาก็กิน เขาถูกทำร้ายก็ไม่มีทนายคอยแก้ต่างให้
ทั้งนี้ตนเองได้ส่งจดหมายผ่านทางอีเมล์ถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีเจ้าหน้าธุรการตอบกลับว่าได้รับแล้ว รวมทั้งจะรวบรวมรายชื่อประชาชนผ่านทางแคมเปญที่ตั้งไว้ สัตว์ป่าไม่รู้จักคำว่าโฉนด โหดไปไหม ??? (คลิกเพื่อร่วมสนับสนุน) ซึ่งก่อนหน้านี้กรณีลิงกอลิล่า "บัวน้อย" สามารถรวบรวมรายชื่อได้เกือบ 70,000 รายชื่อ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เอาจริงกับเรื่องนี้ โดยส่วนตัวเข้าใจดีถึงความยากลำบากในการดูแลมรดกโลก แต่ก็อยากให้จริงจังมากขึ้น ไม่เฉพาะผืนป่า แต่สัตว์ป่าทุกตัว กระทิง ช้าง ลิง ก็คือมรดกโลกที่ต้องได้รับการดูแลทั้งสิ้น
"ความยิ่งใหญ่ ความเจริญ ความมีอารยะของชาติ ประเมินได้จากการดูแลและวิธีที่คนปฏิบัติต่อสัตว์" นางศิลจิรา ยกวาทกรรมของ มหาตมะ คานธี ปิดท้าย