ข่าว

อุ้มเด็กจบม.3 หลุดจากระบบ  ตรีนุช ชู ‘อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’

อุ้มเด็กจบม.3 หลุดจากระบบ ตรีนุช ชู ‘อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’

21 พ.ย. 2564

ตรีนุช ยอมรับ ลงพื้นที่พบม.3 ต้องออกมาหางานทำช่วยพ่อแม่ พร้อมชูโปรเจ็ค‘อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’ ช่วยเด็ก “หลุดจากระบบ” กลับเข้าสู่ห้องเรียน เริ่มนำร่องในปีการศึกษา 2565 ในกลุ่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เชื่อทำต่อเนื่อง10ปี เพิ่มผู้เรียนได้ปีละ 31,200 คน

นักเรียนหรือเด็ก “หลุดจากระบบ” ปัญหาสุดคลาสสิคในระบบการศึกษาไทย แม้ไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด  นักเรียนไทยก็ไปต่อไม่ไหว จากสภาพครอครับที่ยากจน เมื่อเกิดโรคระบาดซ้ำเติม ยิ่งเพิ่มจำนวนนักเรียนไม่ได้เรียนหนังสือมากขึ้น ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ตรีนุช เทียนทอง” ใจความระบุว่า  

 

โปรเจ็ค ‘อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีปัญหาด้านการเงินหรือการขาดโอกาสทางการศึกษาจากปัญหาต่าง ๆ

 

ให้ได้มี #โอกาส กลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาอีกครั้งและพัฒนาทักษะความรู้สำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตอีกด้วย

ปัญหาเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังจบ ม.3 เป็นเรื่องที่ดิฉันพบจากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัดที่ผ่านมา

 

เด็กจากหลายครอบครัวได้รับการศึกษาเพียงชั้น ม.3 แล้วต้องออกมาหางานทำ เพราะครอบครัวไม่มีทุนสำหรับเรียนต่อได้ หรือบางทีอาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกล หากจะมาเรียนในเมืองก็จะมีค่าใช้จ่ายที่พักและแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากค่าเทอมไม่ไหว

 

ในโอกาสการประชุม ครม. สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ดิฉันจึงได้เสนอโปรเจ็ค ‘อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ’ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

 

ที่มีปัญหาด้านการเงินหรือการขาดโอกาสทางการศึกษาจากปัญหาต่าง ๆ ให้ได้มี #โอกาส กลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาอีกครั้งและพัฒนาทักษะความรู้สำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตอีกด้วย

ในระยะแรกเรานำอาชีวะมาเป็นทางเลือกนำร่องก่อน เนื่องจากรูปแบบการเรียนตอบโจทย์ให้เด็กมีทักษะและความรู้เพียงพอต่อการไปทำงานจริง

 

ซึ่งจะสนับสนุนค่าเทอม ที่พัก และอาหาร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้ด้วย

 

โครงการนี้จะเริ่มนำร่องในปีการศึกษา 2565 ในกลุ่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล

 

ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมวิทยาลัยในสังกัดอาชีวะทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายดำเนินโครงการนี้ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2575 และคาดว่าจะเพิ่มผู้เรียนได้ 31,200 คนต่อปีค่ะ

#ตรีนุชเทียนทอง

CR:ตรีนุช เทียนทอง