ข่าว

โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564

โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564

21 พ.ย. 2564

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการฯ

 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.64   ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2564 โดย พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม หรือ บัตร 1 ใบ เป็นระบบการเลือกตั้งแบบผสม หรือ บัตร 2 ใบ อีกทั้ง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องจำนวนของส.ส.ในสภาผู้แทนราษฏร ใหม่ จากเดิมมีส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน รวมเป็น 500 คน ได้มีการแก้ไขเป็น ส.สระบบเขตให้มี 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อมี 100 คน รวมเป็น 500 คน 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน 

 

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ ”

 

มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 

“มาตรา ๘๓ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิก ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวนหนึ่งร้อยคน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้ บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้งหรือ ประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ ในกรณีมีเหตุใด ๆ ที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ”

โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564

 

โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564


 

 

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘๖ การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

 

(๑) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่า เป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน

 

(๒) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (๑) ให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (๓) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน (๔) เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (๒) และ (๓) แล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสี่ร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการค านวณตาม (๓) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำ นวนสี่ร้อยคน (๕) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัด ออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้ง แต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ”

 

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๙๑ การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง กับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ”

 

มาตรา ๖ ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๓ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ มาใช้บังคับจนกว่า จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างที่ยังมิให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับตามวรรคหนึ่ง ให้บทบัญญัติของมาตราดังกล่าวก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญนี้และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ตราขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นยังคงนำมาใช้บังคับต่อไป

โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564

 

ราชกิจจาฯ ยังได้ระบุ เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน สามร้อยห้าสิบคน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคนเป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนสี่ร้อยคนก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้ง ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔

คลิกอ่านฉบับเต็ม ....

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔