ข่าว

"ขจิตร" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก

"ขจิตร" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก

22 พ.ย. 2564

ส.ส.อุดรธาดี พรรคเพื่อไทย ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก และรัฐบาลที่ไม่เห็นความสำคัญของครู แนะครูและองค์กรครูต้องรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองและแก้ปัญหาให้ครูในทุกมิติ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ อีกประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคมและถูกจับตามองมากพอสมควรก็คือกรณีที่ครูอยากลาออก ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ครูบางส่วนรู้สึกเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทบาทหน้าที่ของครูที่ไม่ตรงกับความรับผิดชอบด้านการสอน แทนที่จะได้สอนเด็กให้ได้วิชาความรู้อย่างที่ตั้งใจไว้ ครูกลับต้องเสียเวลาในการสอนเพื่อไปทำผลการประเมินทางวิชาการ ต้องหมดเวลาการสอนไปกับการทำซุ้มคอยต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะผู้บริหารของเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้โรงเรียนผ่านการประเมิน ยิ่งกว่านั้น ครูต้องเป็นทุกอย่างของโรงเรียนและนักเรียน เรียกว่าต้องทำหน้าที่เกินกว่าที่ครูควรจะเป็น

 

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น “คมชัดลึก” โดยมีโอกาสได้พูดคุยกับอดีตครูประชาบาล และปัจจุบันเป็นส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย “ขจิตร ชัยนิคม” พูดถึงปัญหาที่ทำให้ครูไทยอยากลาออก ซึ่ง ส.ส.ขจิตร ได้ชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “ครู”  และ “องค์กรครู” รวมทั้งสิ่งที่ครูทุกคนควรจะยึดเหนี่ยว และตั้งมั่นในวิชาชีพครูไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว  

 

\"ขจิตร\" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก

 

 

ส.ส.ขจิตร มองว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ครูอยากลาออกนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากสถานการณ์โควิดและรัฐบาลที่ไม่เห็นความสำคัญของครู ซึ่งเบื้องต้นปัญหามาจากรัฐบาลที่ใช้ระบบการบริหารที่ไม่ได้กระจายอำนาจ แต่เป็นการรวมศูนย์อำนาจ เมื่อมีปัญหาที่ระบบทำให้ส่งผลไปยังผู้ประกอบวิชาชีพครูและ “องค์กรครู” ด้วย 

 

“เวลานี้วิชาชีพครู.. “องค์กรครู” ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหาร การเปลี่ยนแปลงหน่วยงานบริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ที่นอกจากจะวิตกกังวลเรื่องนี้แล้ว และยังมีสถานการณ์โควิดเพิ่มขึ้นมาด้วย ลำพังการสอนเดิมก็ปัญหาเยอะอยู่แล้ว พอมีโควิดก็ไม่ต้องไปโรงเรียน ให้นักเรียนเรียนออนไลน์ นักเรียนที่ไม่มีโทรศัพท์ อยู่บนเขาบนดอย ก็ต้องเดินหาจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์ ถ้าอยู่ในชนบท ผู้ปกครองหรือเด็กที่ไม่มีโทรศัพท์ ก็เรียนออนไลน์ไม่ได้ หรือถ้ามีโทรศัพท์ แต่ถ้าผู้ปกครองไม่รู้วิธีใช้ ก็ฝึกลูกให้เรียนออนไลน์ไม่ได้ การเรียนผ่านออนไลน์ที่เกิดปัญหาในทุกระดับชั้น” ส.ส.อุดรธานี ยกตัวอย่างปัญหา 

 

\"ขจิตร\" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก

 

 

ส.ส.อุดรธานี กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับครู และ “องค์กรครู” ในขณะนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ดังนั้น วิธีแก้จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหาร และไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะเป็นครูได้ เพราะครูต้องมีความรู้และถ่ายทอดความรู้ได้ ต้องมีจิตวิทยาในการสอน ครูต้องรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ต้องเข้าใจเด็ก เพราะในชั้นเรียนนั้น ก็จะมีทั้งเด็กที่เรียนเก่งและเรียนไม่เก่ง คนเรียนไม่เก่ง แต่เล่นกีฬาเก่ง ก็ต้องจัดการเรียนเน้นไปที่กีฬา และเสริมการเรียนในห้องเรียนเพิ่มเข้าไป

 

“ระบบการบริหารการศึกษาไทย ไม่มีความชัดเจนในเรื่องวิชาชีพครู ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่จะต้องได้รับการยกย่อง ที่จะต้องใช้จิตสำนึกในการสร้าง การสอนลูกศิษย์ ครูต้องทุ่มเทให้ลูกศิษย์ ครูต้องเอาใจใส่ลูกศิษย์ ถ้าจะมาสอนให้หมดชั่วโมง เด็กรู้เรื่องไหม ไม่สนใจ แบบนั้นไม่ได้ เพราะลูกศิษย์จะไม่ได้อะไร ครูต้องมีจรรยาบรรณ ต้องมีสำนึกแห่งวิชาชีพ ต้องทุ่มเทเพื่อให้ความรู้แก่ลูกศิษย์” นายขจิตร ย้ำ

 

ส.ส. อุดรธานี บอกด้วยว่า “ต้องยอมรับว่าอาชีพครู “องค์กรครู” เป็นอาชีพน่าเห็นใจ เพราะในหมู่บ้านตามชนบท ครูเป็นคนที่มีหน้า มีตามากในสังคม ต้องไปงานแต่ง งานบวช สมัยก่อนตอนที่ผมเป็นครูประชาบาล โรงเรียนที่ผมอยู่ มีครูเพียงสองคน คือมีครูใหญ่กับผม ผมก็ทำหน้าที่ทุกอย่างหมด เป็นทั้งภารโรงด้วย และเป็นคนหาเงินมาสร้างโรงเรียนร่วมกับชาวบ้าน แต่ยุคสมัยนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว โรงเรียนมีครูมากขึ้น แต่ครูกลับไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่อยากทำ ทั้งที่ครูที่อยากลาออกนั้น เป็นครูที่มีอุดมการณ์”  

 

\"ขจิตร\" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก

 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือครูที่อยากลาออก และการให้ความช่วยเหลือ “องค์กรครู” ปัญหาหนี้สินของครูนั้น ส.ส.อุดรธานี เผยว่าขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาเรื่องวิธีแก้ปัญหาหนี้สินครูแล้ว กำลังเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ ซึ่งโดยหลักการเบื้องต้นนั้น จะมีการรวมหนี้ครูจากสถาบันการเงินที่ครูเป็นหนี้อยู่ทั้งหมด รวมเป็นหนี้ก้อนเดียวมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และรัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลและให้ครูได้ใช้หนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง ก็จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ 

 

\"ขจิตร\" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก

 

ส่วนเรื่องการตั้งการตั้ง “สหภาพครู”  “องค์กรครู” เพื่อมาช่วยดูแลปัญหาครูให้เกิดพลังในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ให้กับครูทั้งประเทศนั้น ส.ส.ขจิตร กล่าวว่าที่จริงครูจะมีองค์กรวิชาชีพครูอยู่แล้ว คือคุรุสภา ที่ช่วยดูแลครู “องค์กรครู” ซึ่งมีมากว่า 40 ปีแล้ว เดิมเรียกสมาคมครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย ตอนนี้เรียกว่าสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย แต่พอมีองค์กรครูที่เกิดขึ้นเยอะมากไป ทำให้องค์กรครูไม่มีเอกภาพ ดังนั้น จะทำยังไงให้องค์กรครูมีความเข้มแข็ง สมาคมครูทั้งหลายต้องมารวมกันให้เป็นองค์กรเดียว แล้วมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง มาร่วมปรึกษาหารือกัน เคลื่อนไหวร่วมกัน คนที่เห็นต่างไม่อยากออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่เป็นไร แต่ก็อย่าออกมาคัดค้านก็พอ

 

“ครูต้องผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปให้ได้ โดยเฉพาะโควิด เพราะครูยังก็ต้องเป็นสติปัญญาของสังคม ต้องเป็นคนอธิบายให้ประชาชนยอมฉีดวัคซีน และครูต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชน เป็นผู้นำชุมชน ภารกิจของครูจึงสำคัญอยู่เสมอ ครูสร้างคน คนสร้างชาติ ขอให้ครูตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญนี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตย ครูต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อนำพาสังคม” ส.ส.ขจิตร กล่าวย้ำ

 

ในตอนท้าย ส.ส.อุดรธานี ผู้นี้ให้คำมั่นสัญญาว่า  “ขณะนี้ผู้แทนราษฎรกำลังคิดแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิการของครู ความเจริญก้าวหน้าของครู “องค์กรครู” เราจะพยายามอย่างดีที่สุด และขอให้สัญญาในฐานะที่ผมเคยเป็นครู และเข้าใจวิชาชีพครู ขอส่งผ่านความมั่นใจและความปรารถนาดีไปยังครูบาอาจารย์ทุกท่าน เราจะประสบความสำเร็จได้ และเราจะนำสังคมไปสู่สังคมที่มีสติปัญญาและมีความสุขในที่สุด”  

 

\"ขจิตร\" ย้ำการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ คือต้นตอทำให้ครูอยากลาออก