"สภาองค์กรของผู้บริโภค" ค้าน ควบรวม "ทรู - ดีแทค" ชี้ ตัดทางเลือกผู้บริโภค
"สภาองค์กรของผู้บริโภค" ค้าน ควบรวม "ทรู - ดีแทค" กระทบผู้บริโภคด้านราคา - คุณภาพ เตรียมยื่นข้อเสนอ กสทช.-ตลาดหลักทรัพย์ จำกัดทางเลือกผู้บริโภค เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด 52%
สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลง กรณีซีพี - เทเลนอร์ ควบรวม กระทบผู้บริโภค! ผ่านช่องทาง Facebook live : สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเตรียมทำข้อเสนอ ยื่นกสทช.-ตลาดหลักทรัพย์ เสนอจุดยืนไม่เห็นด้วยในควบรวมกิจการ "ทรู-ดีแทค" เป็นการจำกัดทางเลือกผู้บริโภค มีผลกระทบต่อราคา-คุณภาพ และ เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด 52%
น.ส. พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันการควบรวมจะยังมีอยู่ในผู้ถือหุ้นเท่านั้น และยังไม่มีการควบรวมในองค์กรระหว่างทรูและดีแทค แต่ผลกระทบดังกล่าวถ้ามีการควบรวมจริง จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชัดเจน การทำแบบนี้จะทำให้เหลือแค่บริษัทเดียว และจะทำให้เกิดการแข่งขันน้อยมาก ซึ่งถ้าเกิดทั้งสองบริษัทมีการกำหนดค่าบริการให้สูงขึ้น หรือมีการเอาเปรียบผู้บริโภค อันนี้ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบแน่นอน และเราในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเราไม่เห็นด้วย ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกใช้สินค้าและบริการเพราะฉะนั้นบริการต้องมีความหลากหลาย
น.ส. ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาในประเทศไทย จะมีค่ายมือถืออยู่สามค่าย ซึ่งทั้งสามค่าย จะมีการแข่งขันกันอยู่ในประเทศของเรา ทั้งทางด้านการพัฒนาและการบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการขยายพื้นที่การให้บริการ และการแข่งขันด้านราคาด้วย การแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้าหากว่ามีการควบรวมกัน แม้จะเป็นในระดับผู้ถือหุ้นก็ตาม ก็อาจจะทำให้สัดส่วนของการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป หรือว่าลดลงจากที่เคยมีสามค่าย ก็เหลือเพียงแค่สองค่ายเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมากแน่นอน นอกจากในประเด็นของการแข่งขันแล้วยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ การดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหรือผู้บริโภคถูกหลอก จากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คือถ้ามีการควบรวมจะมีผลกระทบในการดูแลส่วนนี้ไปด้วย
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจุดยืนของเรา เราไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโตหรือการรวมธุรกิจใดๆ แต่เราในฐานะผู้บริโภค เราก็มีจุดยืนว่าการควบรวม จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับทางเลือก เพราะจากเดิมจะมีสามทางเลือก ถ้าหากว่ามีการควบรวมจะเหลือแค่สองทาง มันจะเป็นทางสองแพ่งหรือเปล่า มันจะมีอะไรรับประกันในการควบรวมครั้งนี้ มันจะเป็นการริดรอนสิทธิ์ผู้บริโภคหรือไม่ อันนี้เป็นความกังวลส่วนตัว ซึ่งการแข่งขันกันอย่างเสรีนั้นหมายถึงวง การมีธุรกิจอะไรเข้ามาแข่งขันกัน แต่ถ้าการแข่งขันนั้นไม่มีทางเลือก ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกใครได้เลย หรือมีทางเลือกน้อย เราจะถูกเอาเปรียบหรือเปล่า การควบรวมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับบริษัทก็เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ว่าการทำแบบนี้จะเป็นการลดตัวเลือกให้กับผู้บริโภคหรือไม่
ทางด้าน น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า จุดยืนเราชัดเจนที่ไม่เห็นด้วย เพราะการควบรวมทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคน้อยลง เมื่อรวมกันแล้วอาจจะแบ่งตลาดกันเล่น ผู้บริโภคจะมีทางเลือกน้อย กสทช.ควรพิจารณาว่า เมื่อควบรวมกันแล้วส่วนแบ่งตลาดที่รวมกันแล้วได้ 52% จะกลายเป็นการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ขอเรียกร้องให้กสทช. ช่วยกำกับดูแลการเกิดผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหม่ให้มากขึ้นไม่ใช่เหลือน้อยลง
โดยหนังสือที่ทางสภาฯ จะทำการยื่น มี 3 ประเด็นดังต่อไปนี้ คือ
- ไม่เห็นด้วยต่อการควบรวมในครั้งนี้ เพราะจะส่งผลทางลบต่อผู้บริโภค ทำให้มีการแข่งขันน้อยลง และไม่มีการพัฒนาทางด้านบริการในที่สุด
- ทาง กสทช. เอง มีหน้าที่ชัดเจน ที่จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองผู้บริโภค
- อยากให้หน่วยงานให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ แต่จะทำให้ธุรกิจแข็งแรงและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนได้
ซึ่งสภาฯ จะทำข้อเสนอดังกล่าวไปถึงกสทช.ให้สั่งห้ามการควบรวมที่อาจจะส่งผลให้มีอำนาจเหนือตลาด รวมถึงจะส่งข้อเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์(ตลท.)พิจารณาผลกระทบเรื่องนี้ด้วย เพราะทั้งสองบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าทั้งสามหน่วยงานไม่มีใครดูแลคงต้องทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี