อวดผลงานสภาไทยสู่เวทีโลก สุดทึ่งกมธ.วิทย์ฯร่วมผลักดันนวัตกรรมแก้จน
ศ.ดร.กนก นำผลงานสภาไทยสู่เวทีระหว่างประเทศ นำร่อง โมเดล 9 จังหวัด ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มรายได้ ปชช. 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นตัวอย่างแก้จน เชื่อ ช่วยสภาไทย ยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรี ในเวทีโลก
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ควรจบแค่การทำงานภายในประเทศ แต่สามารถต่อยอดนำผลงานของกรรมาธิการฯคณะต่าง ๆ ไปสู่การรับรู้ในเวทีระหว่างประเทศด้วย เช่น สหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter Parliamentary Union - IPU) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่รัฐสภาของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเป็นสมาชิก
ล่าสุด IPU จัดตั้งคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Working Group on Science and Technology) ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้การตัดสินใจทางการเมืองของรัฐสภาใช้หลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ด้วยความคิดที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือของการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนถึงการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับมนุษยชาติ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รองหัวหน้าพรรประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาแผนงานของกลุ่ม รวมถึงธรรมนูญระหว่างประเทศ ว่าด้วยจริยธรรมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (International Charter on Technoscience Ethics) ตนได้เสนอต่อคณะทำงาน 2 เรื่อง คือ 1) การสื่อสารและส่งเสริมการรับรู้ การสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิก IPU ทั้งหมด เพื่อให้ปฏิบัติตามหลักการของธรรมนูญระหว่างประเทศว่าด้วยจริยธรรมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ 2) การศึกษาและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิกของคณะทำงานนี้เรื่องการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหา ความยากจนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และให้แต่ละประเทศนำประสบการณ์และบทเรียนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีไปใช้แก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนมาแลกเปลี่ยนกัน ผ่านการประชุมสัมมนาหรือการลงพื้นที่สังเกตการณ์ตรงเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ ระหว่างกันที่จะได้นำความรู้และประสบการณ์จากการเรียนรู้นี้ไปแก้ไขปัญหาความยากจนและ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
“ประธานและที่ประชุมคณะทำงานเห็นชอบกับข้อเสนอของผม และให้ผมยกร่างแนวทางการปฏิบัติงานของทั้งสองเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะทำงานเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชา IPU ต่อไป นี่คือก้าวที่หนึ่งที่ผมจะนำผลงานของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ของสภาผู้แทนราษฎรที่ประสานงานให้เกิดโครงการจังหวัดโมเดล 9 จังหวัดที่ตั้งเป้าสร้างรายได้ ให้เกษตรกรยากจนเพิ่มขึ้นเดือนละ 10,000 บาทต่อครัวเรือนอย่างยั่งยืนไปสู่การรับรู้ของประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IPU ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้ให้ความรู้และประสบการณ์การแก้ปัญหาสำคัญของมนุษย์ คือ ปัญหาความยากจน แก่นานาประเทศด้วย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนบนเวทีโลกได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีครับ” ศ.ดร.กนก กล่าว