สาวช็อก! โดนปรับ 7 หมื่น หิ้ว "กระเป๋าแบรนด์เนม" เข้าไทย "ศุลกากร" ชี้แจงแล้ว
สาว ไทย-เบลเยียม ช็อก! โดนปรับ 7 หมื่นบาท หิ้ว "กระเป๋าแบรนด์เนม" เข้าไทย "กรมศุลกากร" ชี้แจง หากนำของเข้าประเทศมีมูลค่าเกิน 2หมื่นบาท ต้องเสียภาษี ไม่เว้นแม้แต่ของใช้ส่วนตัว
จากกรณีหญิงสาว ผู้ใช้เฟซบุ๊ก รายหนึ่ง โพสต์ภาพกระเป๋าแบรนด์เนมหรู ถ่ายคู่กับใบเสร็จภาษีศุลกากร โดยระบุว่า โดนภาษีไปถึง 68,929 บาท โดยเจ้าตัวระบุว่า
"คุณแม่ดู คนที่เค้าขายกระเป๋าแบรนด์เนมก๊อปปี้ Live ขายใน Facebook คุณแม่งงมากเลย ตำรวจไม่จับเหรอคะ?
เวลาเค้าใช้ของแท้ ก็มาปรับเขาซะงั้น งงกับพี่ไทยมากๆๆเลย ดูดู 5555 แล้วคนที่ใช้ของปลอม เค้าปรับกันหรือเปล่าวะ กระเป๋าเนี่ย"
หลังจากที่หญิงสาวโพสต์ข้อความดังกล่าว ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก พร้อมตั้งคำถามสงสัย ว่าทำไมกรมศุลกากรจึงทำแบบนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่
ซึ่งหลังจากที่สื่อมีการนำเสนอข่าวออกไปแล้วนั้น ผู้สื่อข่าวคมชัดลึกออนไลน์ จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น มาเรียบเรียงให้อ่านกัน
โดยเรื่องราวนี้ นายเกื้อ นามแสง นักธุรกิจและอินฟลูเอนเซอร์ ได้เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า เพื่อนที่โดนปรับนั้น เป็นหญิงสาว ถือสัญชาติไทย-เบลเยียม เพื่อนได้มาประเทศไทยวันที่ 20 พ.ย.64 และเมื่อศุลกากรเห็นกระเป๋าแอร์เมส ก็เรียกเก็บเงินเป็นจำนวน 68,929 บาท ซึ่งในความเป็นจริง กระเป๋าใบนี้ซื้อมาตั้งแต่ที่เบลเยียม ใช้งานมาหลายปี และเพื่อนเคยถือกระเป๋าใบนี้เข้าออกมาหลายประเทศ แต่ไม่เคยโดนอะไร มาโดนที่ประเทศไทย
ตอนแรกเพื่อนจะโดนปรับประมาณ 7 หมื่นบาท แต่ไปคุยและต่อจนเหลือ 6.8 หมื่น ซึ่งนายเกื้อมองว่าแพง แต่ถ้าไม่จ่าย ก็จะไม่สามารถเอากระเป๋าออกไปได้ ซึ่งนายเกื้อมองว่านี่คือของใช้ส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องแจ้งศุลกากร และเพื่อนตั้งใจมาเที่ยว และอยู่ประเทศไทยแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น
ซึ่งนายเกื้อยังตั้งคำถามต่ออีกว่า ถ้าในกรณีนี้ ตอนที่นำกระเป๋ากลับเข้าประเทศเบลเยียม จะได้รับเงินภาษีคืนไหม และถ้าหากครั้งหน้า เพื่อนต้องมาเที่ยวประเทศไทยอีก จะยังต้องเสียภาษีแบบนี้อีกหรือไม่
ล่าสุด นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หากผู้โดยสารซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ในจำนวนที่ไม่เกิน 20,000 บาท จะไม่เสียภาษี แต่หากซื้อในจำนวนที่มากกว่าที่ได้รับการยกเว้น คือเกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ต้องจ่ายเงิน ไม่ว่าสินค้านั้นจะใช้เองหรือไม่ได้ใช้เอง เมื่อเจ้าหน้าที่คำนวณภาษีแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกใบเสร็จเป็นหลักฐาน เพื่อแสดงว่าผู้โดยสารได้ชำระค่าภาษีแล้ว ซึ่งในกรณีกระเป๋าถือ ค่าอากร 20% + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคากระเป๋าประมาณ 2 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า สิ่งของต่อไปนี้ไม่ต้องสำแดง หากนำเข้ามาก็สามารถเดินเข้าช่องเขียว (Nothing to declare) ได้เลย ประกอบด้วย
ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณพอสมควรสำหรับใช้ส่วนตัว หรือใช้ในวิชาชีพ มูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้าม ของต้องกำกัด (ของที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า) เสบียงอาหาร และต้องเป็นของที่ไม่มีลักษณะทางการค้า เช่น ถ้าซื้อกระเป๋า 1 ใบที่มีราคาไม่เกิน 20,000 บาทมาใช้เอง แบบนี้ไม่ต้องสำแดง แต่ถ้าหากซื้อกระเป๋ามา 10 ใบ แม้จะมีราคาไม่เกิน 20,000 บาท ก็อาจเข้าข่ายเป็นการค้า จึงต้องเสียภาษี
-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลิตร
-บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือซิการ์-ยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิน 250 กรัม (แต่ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกิน 200 มวน)
อย่างไรก็ตาม หากมีบุหรี่ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกินปริมาณที่กำหนด แนะนำให้หย่อนใส่กล่องที่กรมศุลกากรจัดไว้ ตัดปัญหาถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
สำหรับของติดตัวที่เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยแล้วต้องสำแดง (เข้าช่องแดง) เพื่อเสียภาษีอากร ประกอบด้วย
▪︎ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท ไม่ว่าจะใช้เองหรือไม่ได้ใช้เอง (สิ่งของที่นำไปจากประเทศไทยจะไม่ถูกนำมาคิดมูลค่า หากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทาง)
▪︎สิ่งของที่มีลักษณะทางการค้า แม้จะมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาท
▪︎เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกินกว่า 1 ลิตร
▪︎บุหรี่ เกินกว่า 200 มวน
▪︎ซิการ์หรือยาเส้น เกินกว่า 250 กรัม
▪︎ของต้องจำกัด คือ ของที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ยาและอาหารเสริม, เครื่องสำอาง, สัตว์เลี้ยง, อาวุธปืน, พืช, โดรน เป็นต้น
หากเป็นสิ่งของที่เข้าข่ายเสียภาษีตามที่กำหนด คนที่หิ้วของเข้ามาจะต้องเสียภาษี 2 ประเภทคือ
1. ภาษีนำเข้า
โดยคิดตามอัตราอากรขาเข้าที่ระบุไว้ในพิกัดศุลกากร ซึ่งมีราคาแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น เสื้อผ้า หมวก เข็มขัด รองเท้า เครื่องสำอาง น้ำหอม คิดภาษี 30% กระเป๋าแบรนด์เนม คิดภาษี 20% CD DVD อัลบั้มเพลง อัลบั้มคอนเสิร์ต ตุ๊กตา คิดภาษี 10%นาฬิกาข้อมือ แว่นตา แว่นกันแดด คิดภาษี 5%โทรศัพท์ กล้อง คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ เมาส์ อุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ แผงวงจรไฟฟ้า ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะตีราคาตามใบเสร็จของสินค้า กรณีไม่มีใบเสร็จจะดูราคาจากฐานข้อมูลและเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้านั้น ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของแบรนด์นั้นเอง หรือเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ สินค้านำเข้าบางประเภทยังต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย เช่น น้ำหอม เครื่องดื่ม สุรา บุหรี่ ไพ่ ฯลฯ
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
สินค้าทุกชิ้นที่เสียภาษีนำเข้าแล้ว จะต้องคิด VAT อีก 7% เข้าไปด้วย โดยคำนวณจากราคาสินค้าที่บวกกับอากรขาเข้าแล้ว
สูตรคำนวณภาษีอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับคนที่ยังสงสัยว่า... เราจะต้องเสียภาษีสินค้าที่นำเข้ามาเท่าไหร่ ก็ลองใช้สูตรนี้คำนวณภาษีเบื้องต้น ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1. อากรขาเข้า = ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
3. ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ยกตัวอย่าง ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ราคา 100,000 บาท จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย แม้จะเป็นของใช้ส่วนตัว แต่เนื่องจากมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท จึงต้องเสียภาษีตามสูตรคำนวณต่อไปนี้
1. คำนวณอากรขาเข้า = ราคาสินค้า (100,000) x อัตราภาษีขาเข้ากระเป๋า (20%)
ดังนั้น อากรขาเข้า = 20,000 บาท
2. คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม = [ ราคาสินค้า (100,000) + อากรขาเข้า (20,000) ] x ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มของกระเป๋าใบนี้คือ 8,400 บาท
3. รวมภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระคือ อากรขาเข้า (20,000) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (8,400) = 28,400 บาท
คนที่ซื้อของมาเต็มกระเป๋า อย่าคิดหลบเลี่ยงเดินเข้าช่องเขียวเด็ดขาด เพราะถ้าเจ้าหน้าที่สงสัยและสุ่มตรวจขึ้นมา จะมีความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร ต้องถูกริบของ และปรับเงิน 4 เท่าของราคารวมภาษีอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ